เที่ยวเบอร์ลิน (Berlin) ตอนที่ 3: ก้าวข้ามระหว่างฝั่งอดีตเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) จุดที่เคยเกือบทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 มาแล้ว

เที่ยวเบอร์ลิน (Berlin) ตอนที่ 3: ก้าวข้ามระหว่างฝั่งอดีตเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) จุดที่เคยเกือบทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 มาแล้ว

รีวิวเที่ยวเบอร์ลินด้วยตัวเอง: เช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie)

หลังจากแวะจิบเบียร์กันที่ Prater Beer Garden กันพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ไปเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมันผ่านสถานที่จริงที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) กันต่อ ที่นี่คือจุดเช็คหนึ่งในสามที่ดูแลโดยทหารอเมริกันฝั่งเยอรมันตะวันตก ถูกสร้างขึ้นจากคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F Kennedy) ในเดือนสิงหาคม ปี 1961 เพื่อให้คณะทูตและกองกำลังพันธมิตรนั้นสามารถเดินทางเข้าออกผ่านจุดเช็คแห่งนี้ได้ และเป็นจุดเช็คเพียงจุดเดียวที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถผ่านเข้าออกได้ หลังจากที่เยอรมันฝั่งตะวันออกมีคำสั่งให้สร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้คนจากฝั่งเยอรมันตะวันออกข้ามฝั่งไปที่เยอรมันตะวันตกง่ายๆได้อีกต่อไป ส่วนจุดเช็คอีก 2 แห่งที่ว่านั้นมีชื่อว่าเช็คพอยท์อัลฟาและเช็คพอยท์บราโว (Checkpoint Alpha and Bravo) แต่ทำไมเช็คพอยท์ ชาร์ลีแห่งเดียวนี้ถึงมีชื่อเสียงขึ้นมาล่ะ?

ทางออกรถไฟฟ้าใต้ดินสถานี Kochstraße (Checkpoint Charlie)
ตามสถานีรถไฟต่างๆก็จะมีเหล่าศิลปินและนักดนตรีอิสระเล่นดนตรีให้เราฟัง เครื่องดนตรีแปลกสุด แต่เสียงดนตรีเพราะดี

โฆษณาแมคโดนัลด์ (Mcdonald) ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Kochstraße

ระหว่างทางเดินมีโบรชัวร์เกี่ยวกับเรื่องราวของเช็คพอยท์ ชาร์ลีเป็นภาษาอังกฤษแจกให้อ่านฟรี มีร้านอาหารตกแต่งด้วยชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินที่ยังคงหลงเหลืออยู่พร้อมร่องรอยของสตรีทอาร์ตอยู่รอบๆร้าน นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินพร้อมฐานของจริงจัดแสดงอยู่ข้างทางเดินด้วย ส่วนอีกชิ้นเราเห็นถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่อยู่อีกฝั่ง ชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินแบบนี้ถูกจัดแสดงอยู่ทั่วประเทศ เราเห็นส่วนของกำแพงเบอร์ลินพร้อมฐานแบบนี้อีกครั้งในสนามบินที่เมืองโคโลญ (Cologne) เพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านได้เห็นและไม่หลงลืมประวัติศาสตร์ (อันขมขื่น) ที่เคยเกิดขึ้น

ชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินพร้อมฐานของจริงถูกจัดแสดงอยู่ข้างทางเดินใกล้กับบริเวณของเช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie)
ชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินพร้อมฐานของจริงถูกจัดแสดงอยู่ในสนามบินที่เมืองโคโลญ (Cologne Bonn Airport)
ป้อมทหารอเมริกันที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie)

หลังออกมาจากสถานีรถไฟ เดินมาแค่แป๊บเดียวก็จะเจอเข้ากับป้อมของทหารอเมริกันเล็กๆตั้งอยู่ที่เหมือนถูกสร้างขึ้นมาไว้เพียงชั่วคราว ต่างจากป้อมของทหารโซเวียตที่เคยอยู่ตรงข้ามไม่ไกลกันนักที่เป็นคอนกรีตแน่นหนาราวกับว่าเขตแดนที่ถูกแบ่งนี้จะคงอยู่ยาวนานตลอดไป แต่ตอนนี้ทหารที่อยู่ในป้อมเหล่านั้นเป็นเพียงนักแสดงที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆเท่านั้น จะเห็นได้ว่ามีนักท่องเที่ยวต่อคิวรอถ่ายรูปคู่ด้วย ส่วนนักแสดงที่สวมชุดทหารเองก็คอยเรียกให้นักท่องเที่ยวคนนู้นคนนี้ให้เข้าไปถ่ายรูปกับพวกเค้า ส่วนเราแค่ถ่ายรูปสถานที่เก็บไว้เป็นที่ระลึก มารู้ทีหลังว่าใครถ่ายรูปกับนักแสดงทหารเหล่านี้ต้องเสียเงิน 3 ยูโร ( 120 บาท) ใครไม่อยากเสียเงินให้กับรูปภาพรูปเดียวแบบเราก็อย่าเผลอไปถ่ายรูปกับทหารอเมริกันที่ป้อมกันนะ

มองไปรอบๆเราถูกรายล้อมไปด้วยร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ และร้านขายของฝากเกี่ยวกับเช็คพอยท์ ชาร์ลี มองไปทางไหนก็ดูออกจะเจริญหูเจริญตา แต่หากย้อนไปเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ที่เดียวกันนี้เป็นจุดที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งด้วยกำแพงสูงใหญ่พร้อมฐานที่แน่นหนาเพื่อกั้นคนจากประเทศเดียวกันเองออกจากกัน กำแพงที่กั้นสิทธิเสรีภาพออกจากเยอรมันฝั่งตะวันออก เสรีภาพที่พวกเค้าต้องการ หากอยากได้มาต้องแลกด้วยชีวิต คนที่ถูกจับได้ว่าพยายามหลบหนีต่างถูกยิงเสียชีวิตกันทั้งนั้น..

รูปของทหารอเมริกันและโซเวียตบริเวณเช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie)

บริเวณป้อมทหารนั้นมีรูปขนาดใหญ่ของทหารทั้ง 2 ฝั่งตั้งอยู่ซึ่งหากดูให้ดีแล้วเป็นคนละคนกัน คนนึงเป็นทหารชาวอเมริกันกำลังมองไปที่เยอรมันฝั่งตะวันออกและอีกคนเป็นทหารชาวรัสเซียที่กำลังมองไปที่เยอรมันฝั่งตะวันตก สังเกตได้จากชุดแบบฟอร์มทหารที่ต่างกัน เป็นภาพของทหารจริงที่เคยถูกถ่ายไว้เมื่อหลายปีที่แล้วหลังกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงเพื่อเป็นการเก็บภาพของทหารทั้งหมดที่เคยมาประจำทำงานอยู่ที่นี่ ภาพเหล่านี้ถูกนำมาตั้งไว้เพื่อเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของสมัยสงครามเย็นช่วงปีค.ศ. 1947–1991 ระหว่างเยอรมันทั้ง 2 ฝั่งตะวันตกและตะวันออก

You are entering the American sector
Carrying weapons off duty forbidden
Obey traffic rules

หากหันหน้าเข้าหาป้อมทหารอเมริกัน ด้านข้างซ้ายมือมีป้ายสีขาวเขียนด้วยตัวอักษรสีดำเป็นภาษาอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมันโดยทหารอเมริกัน ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า  คุณกำลังเข้าสู่ภาคส่วนที่ดูแลโดยสหรัฐอเมริกา ห้ามไม่ให้พกอาวุธในหน้าที่ และกรุณาปฏิบัติตามกฎของจราจรด้วย” ป้ายนี้เป็นป้ายที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ ส่วนของจริงถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ The Haus am Checkpoint Charlie ไม่ไกลจากเช็คพอยท์ ชาร์ลี (พิกัด Checkpoint Charlie Museum Google Map)

ภาพหลังจากข้ามฝั่งมาที่อดีตเยอรมันตะวันออก

ด้านขวามือในภาพเป็นพิพิธภัณฑ์เอาท์ดอร์ขนาดย่อมที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ ตอนเราไปถึงกลับช้าเกินไป เค้ากำลังปิดพอดีเลยอดเข้าไปดู แต่ด้านนอกยังคงมีภาพเก่าๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นที่นี่ให้ได้อ่านอยู่ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน

Berlin Crisis of 1961

ภาพประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมันที่เคยเกิดขึ้นที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี ทหารอเมริกันของฝั่งเยอรมันตะวันตกและทหารโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบันของฝั่งเยอรมันตะวันออกตั้งปืนของรถถังฝั่งตัวเองพร้อมเตรียมยิงใส่กัน เป็นที่หวั่นเกรงของคนทั่วโลกว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้น ต้นเหตุเกิดจากการที่การ์ดฝั่งเยอรมันตะวันออกขอดูพาสปอร์ตของทูตชาวอเมริกันที่ชื่อว่า Allan Lightner ที่ข้ามจากฝั่งเยอรมันตะวันตกผ่าน เช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) เพื่อไปดูละครโอเปราในฝั่งเยอรมันตะวันออก ในวันที่ 22 ตุลาคม ปี 1961 แต่อลันกลับปฏิเสธและบอกว่าต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทางการของโซเวียตเท่านั้นที่จะมาขอดูเอกสารของเค้าได้ ทำให้การ์ดฝั่งเยอรมันไม่อนุญาตให้อลันข้ามฝั่ง

Lucius Clay ที่เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของทหารอเมริกันผู้ดูแลฝั่งเยอรมันตะวันตกเองไม่พอใจเลยขับเคลื่อนรถถัง M-48 จำนวน 10 คันมาที่บริเวณของเช็คพอยท์ ชาร์ลี ทหารโซเวียตฝั่งเยอรมันตะวันออกเห็นก็ไม่ยอมเหมือนกัน ตอบสนองด้วยการเคลื่อนรถถัง T-55 จำนวน 36 คันมาจอดอยู่ที่บริเวณเขตชายแดนของเยอรมันตะวันออก จนวันที่ 27 ตุลาคม ปี 1961 ก็เคลื่อนรถถัง T-55 10 คันจำนวนเท่ากันมาเผชิญหน้ากับฝั่งเยอรมันตะวันตกที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี ทหารอเมริกันและโซเวียตตั้งรถถังเผชิญหน้ากันตั้งท่าพร้อมจะยิงอยู่ทุกเมื่อแบบนั้นเป็นเวลายาวนานถึง 16 ชั่วโมง แต่ในที่สุดเหตุการณ์อันน่ากลัวนี้ก็สิ้นสุดลงเมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ทำการติดต่อผู้นำของโซเวียตในสมัยนั้นที่ชื่อว่า นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) เพื่อโน้มน้าวให้ถอนกำลังและรถถังออกได้สำเร็จ อีกไม่กี่นาทีต่อมาฝั่งอเมริกาเองก็ถอนกำลังและรถถังของฝั่งตัวเองออกเช่นกัน ทำให้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในที่สุด โล่งอกไปที ไม่อย่างนั้นแล้วไม่อยากจะนึกเลยว่าประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนหากมีการยิงกระสุนปืนจากรถถังของฝั่งใดฝั่งหนึ่งในวันนั้นเกิดขึ้น

ภาพของจอห์น เอฟ เคนเนดี้ตอนที่มาเยี่ยมที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie)

หลังจากเหตุการ์ณ์ประชันหน้ากันของรถถังฝั่งอเมริกันและโซเวียตเกิดขึ้น ทั้งนีกีตา ครุชชอฟและจอหน์ เอฟ เคนเนดี้ก็ได้มาเยี่ยมที่เช็คพอยท์ ชาร์ลีกันทั้งคู่ในวันที่ 17 มกราคม และ 26 มิถุนายน ปี 1963 ตามลำดับ ในขณะที่จอหน์ เอฟ เคนเนดี้มาเยี่ยมนั้น เค้าได้กล่าวหน้า City Hall ใน Schöneberg ไว้ว่า “All free men, wherever they may live, are citizens of Berlin and therefore, as a free man, I take pride in the words: Ich bin ein Berliner.” ถึงทุกคนที่มีอิสระเป็นของตน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตามแต่ พวกเค้าก็คือประชาชนของเบอร์ลิน เช่นนั้นแล้วในฐานะของคนอิสระคนนึง ฉันมีความภาคภูมิใจให้กับคำเหล่านี้ “ฉันก็เป็นชาวเบอร์ลินคนหนึ่ง”

เราไม่ค่อยรู้เรื่องราวของจอห์น เอฟ เคนเนดี้มากนัก จำได้แค่คร่าวๆว่าเค้าถูกลอบสังหาร มาลองค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมดูพบว่าประธานาธิบดีคนที่ 35 ของอเมริกาที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนนี้ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1963 ในขณะที่กำลังหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้น คำนวณเวลาดูแล้วผ่านมาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้นหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนั้นในเบอร์ลิน คดีนี้ยังคงถูกทิ้งไว้ให้เป็นปริศนาต่อผู้คนมาจนถึงปัจจุบันว่าใครอยู่เบื้องหลังกันแน่เพราะคนที่ถูกกล่าวหาว่ายิง JFK นั้น กลับถูกอีกคนยิงก่อนถูกนำตัวขึ้นศาลเสียอีก โดยมือปืนอีกคนอ้างว่าไม่พอใจที่นักโทษคนนี้มาฆ่าประธานาธิบดีอันเป็นที่รักของเค้า ต่อมามือปืนคนที่สองนี้กลับเสียชีวิตจากโรคร้ายระยะสุดท้ายก่อนถูกนำตัวขึ้นศาลอีกเช่นกัน

จนเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี.. วันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 1989 รัฐบาลของฝั่งเยอรมันตะวันออกทำการประกาศว่าจะยกเลิกการห้ามไม่ให้คนเยอรมันที่อยู่ในฝั่งตะวันออกข้ามไปฝั่งตะวันตก นักข่าวยกมือถามท่ามกลางการถ่ายทอดสดขึ้นมาว่า เมื่อไหร่? รัฐบาลก็ตอบกลับแบบงงๆว่า ก็ตั้งแต่ตอนนี้ เท่านั้นแหละผู้คนจากฝั่งตะวันออกมากมายต่างพากันข้ามมาที่เยอรมันฝั่งตะวันตกผ่านเช็คพอยท์ ชาร์ลีแห่งนี้ รถยนต์มากมายต่อคิวรอแถวข้ามฝั่งกันที่เช็คพอยท์ ชาร์ลีเช่นกัน ก่อนจะถึงจุดจบของกำแพงเบอร์ลิน (Berlin wall) ในที่สุด ปัจจุบันเหลือไว้แค่บางส่วนเพื่อเป็นเพียงเครื่องเตือนใจให้แก่คนรุ่นหลังเท่านั้น

วิธีเดินทางมาที่เช็คพอยท์ ชาร์ลี: นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินมาลงที่สถานี Kochstraße ก็ถึง U Kochstraße/Checkpoint Charlie Google Map

พิกัดเช็คพอยท์ ชาร์ลี (Checkpoint Charlie): Checkpoint Charlie Google Map

Reference:

 

อ่านเที่ยวเบอร์ลินด้วยตัวเองตอนก่อนหน้าได้ที่นี่:

 

อ่านเที่ยวเบอร์ลินด้วยตัวเองตอนต่อไปได้ที่นี่: เที่ยวเบอร์ลิน (Berlin) ตอนที่ 4: ถ่ายรูปคู่กับประตูบรันเดินบวร์ค (Brandenburg Gate) แลนด์มาร์คของเบอร์ลินและเดินเล่นรอบๆอาคารรัฐสภาเยอรมันบุนเดสทาค (Bundestag)


เช็คราคาตั๋วเครื่องบินกรุงเทพ-เบอร์ลินได้ที่นี่: http://bit.ly/flights-Bangkok-Berlin

แนะนำวิธีค้นหาตั๋วเครื่องบินราคาถูกและคุ้มที่สุดสำหรับการเดินทางทั้งในไทยและต่างประเทศ เอาใจแบ็คแพ็คเกอร์สายประหยัดเหมือนกัน

เรื่อง: ตรีสุคนธ์ จีระมะกร (ตรี)

  • รับจ้างเขียน content สนใจส่งข้อความมาทางเว็บไซต์ได้เลยค่ะ
  • รับจองตั๋วเครื่องบินทั้งในไทยและต่างประเทศราคาถูก สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมและทักแชทมาได้ที่ Helloholidays.xyz FB Page

 

 

 

6 Comments