ในวันที่ฉันลาออกจากงานที่ใครก็เรียกว่ามั่นคงมาเป็นฟรีแลนซ์

ในวันที่ฉันลาออกจากงานที่ใครก็เรียกว่ามั่นคงมาเป็นฟรีแลนซ์

เมื่อสองปีที่แล้ว.. ฉันตัดสินใจลาออกจากงานประจำงานแรกในชีวิตซึ่งยังคงเป็นงานสุดท้ายในขณะนี้ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า “งานนั้นหนักเกินไป” งานที่ว่าคือการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีหรือออดิทที่หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินมาบ้าง

 

เป็นออดิทเพราะเรียนบัญชี

Art by Palim

ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยปีสาม ฉันมีโอกาสฝึกงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของสายงานนี้ เมื่อการฝึกงานจบลง ฉันก็ได้รับข้อเสนอให้เซ็นสัญญาเข้าทำงานต่อทันทีหลังเรียนจบ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจสำหรับนักศึกษาคนหนึ่งในตอนนั้น เพราะเรียนจบปุ๊ปก็มีงานทำเลย ไม่ต้องมานั่งหาที่สมัครงานแล้วตระเวนสอบสัมภาษณ์เหมือนกับใครเขา คะแนน TOEIC ที่สอบไว้ก็ยังไม่เคยเอาไปใช้ด้วยซ้ำ

และนั่นก็ทำให้ปีสี่ในมหาวิทยาลัยของฉันเป็นปีที่สนุกที่สุด เพราะไม่ได้ห่วงเรื่องเกรดเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว จากที่เคยเป็นเด็กเรียน เข้าเรียนทุกคาบ นั่งหน้าตลอด ก็เริ่มโดดเรียน สนุกกับ Friday night จากที่เคยทำกิจกรรมมาบ้างแบบประปราย ก็หาทำเพิ่ม ทำงานพาร์ททามติวหนังสือมากกว่าเดิมเพื่อเก็บเงินไว้ไปเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเอง วันที่คนอื่นอ่านหนังสือสอบอย่างแข็งขัน ฉันยังนั่งติวหนังสือให้คนอื่นอยู่เลย

 

เกียรตินิยมนั้น.. สำคัญแค่ไหน?

Art by Palim

ถึงจะชิวไปบ้างหรือทำกิจกรรมเยอะแค่ไหน ฉันก็ยังคงตั้งใจเรียนในห้องและอ่านหนังสือสอบจนดึกดื่นอยู่เหมือนเดิม ทำให้ยังเรียนจบด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งได้ (เพราะบุญเก่าก่อนเซ็นสัญญาแท้ๆ) เป็นสิ่งหนึ่งที่ภูมิใจ แต่ก็เป็นอย่างนั้นได้ไม่นาน เพราะจริงๆ แล้วเกียรตินิยมไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น ฉันยังไม่เคยใช้เกรดของตัวเองที่ได้มาไปยื่นสมัครงานที่ไหนเลยด้วยซ้ำ

ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปถึงชีวิตมหาวิทยาลัยของตัวเอง ก็จะนึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำแล้วได้ประสบการณ์พร้อมความสนุกเสียมากกว่า อย่างตอนที่ทำพาร์ททามในร้านอาหารชั่วโมงละ 30 บาทแถมข้าวเย็นฟรี ขายเครป ไปค่ายอาสา สร้างฝาย เดินป่า กินข้าวแบบง่ายๆ เข้าค่ายและได้ทุนไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต การเดินทางครั้งนั้นสอนให้ฉันรู้ว่า.. ยังมีอะไรนอกตำราเรียนให้เรียนรู้อีกเยอะมาก

ทำงานเป็นติวเตอร์ให้กับมหาลัย สถาบัน แล้วก็มาเป็นติวเตอร์อิสระ ด้วยเป้าหมายที่ว่าจะได้มีเงินเก็บไปเที่ยวญี่ปุ่นกับเกาหลีได้โดยไม่ต้องไปรบกวนที่บ้าน เรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาเลือกเสรีเพราะอยากได้ความรู้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักจะเลือกเรียนวิชาไหนก็ได้ที่ทำให้ได้เกรด A ง่ายๆ แทน

ตอนที่รถล้ม ฟันหัก เดินขากะเพลก พักฟื้นได้ไม่นาน ฉันก็ยังค่อยๆ เดินไปสอบสัมภาษณ์ชิงทุนอีกครั้ง จนได้ไปที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก แต่งตัวสวยๆ ไปงานบายเนียร์ได้ไม่นาน ก็ต้องรีบออกมาก่อนเพราะวันรุ่งขึ้นมีสอบสัมภาษณ์ชิงทุนไปอเมริกา แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะเตรียมตัวไปไม่ดี ยังมีอีกหลายอย่างตลอดสี่ปีที่สอนอะไรฉันเยอะมาก

ทั้งเรียนทั้งทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วยนี่แหละ.. คุ้มค่าที่สุด

 

เด็กบัญชีที่ชอบภาษาอังกฤษ

Art by Palim

ฉันเลือกเรียนบัญชีภาคภาษาอังกฤษเพราะชอบภาษาอังกฤษและอยากมีวิชาชีพติดตัว ถึงแม้จะเป็นเด็กบัญชี แต่คาบเรียนที่ฉันชอบและได้เกรดดีที่สุดกลับเป็นคาบวิชาภาษาอังกฤษ ฉันจะรอคอยการมาถึงและตั้งใจเรียนวิชานี้มากเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่เข้าห้องสมุด ถ้าฉันไม่เปิดห้องติวหนังสือคนอื่น ก็จะเข้าไปเช่าซีดีหนังฝรั่งฟรีจากห้องสมุดกลับมาดู ชอบฟังเพลงภาษาอังกฤษ รูมเมทมักเห็นฉันเปิดยูทูปร้องเพลงตาม (แต่ก็ไม่เคยว่าอะไรเลย ต้องขอบคุณเขานะ)

ฉันเลยค่อยๆ ตระหนักได้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบเรียนภาษาอังกฤษมากที่สุด แล้วก็อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งภาษาอังกฤษมากขึ้นกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา ถ้าฉันเห็นว่ามีกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ก็จะพยายามไปเข้าร่วมด้วยหมด เข้าค่ายกับเพื่อนชาวต่างชาติ สอบสัมภาษณ์ชิงทุนไปต่างประเทศ เป็นพิธีกรภาคภาษาอังกฤษ เป็นผู้ช่วยในงานอบรมพนักงานต่างชาติที่โรงแรม เพราะรู้ว่านั่นคือวิธีที่จะพัฒนาให้ภาษาอังกฤษของตัวเองดีขึ้นได้แบบฟรีๆ แถมบางงานยังได้เป็นค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ตอบแทนกลับมาอีกต่างหาก

ในวันที่ฉันเข้าสู่วงจรมนุษย์เงินเดือน

Art by Palim

หลังจากเรียนจบแค่ประมาณสองเดือน ฉันก็ต้องก้าวกระโดดเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่ต้องเริ่มดูแลและรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ฉันกลับมาอยู่ที่กรุงเทพกับที่บ้าน และเริ่มเข้าสู่วงจรมนุษย์เงินเดือนแบบเต็มตัว ต้องรีบตื่นอาบน้ำแต่งตัว ใส่ชุดพนักงานออฟฟิศ นั่งมอเตอร์ไซค์ไปที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ต่อคิวรอยาวเหยียด แล้วไปเบียดกับคนอื่นต่อที่รถไฟฟ้าบนดิน ไถมือถือเล่นรอระหว่างทางฆ่าเวลา ช่วงหลังฉันย้ายบ้านมาอยู่ใกล้รถไฟฟ้าบนดินมากขึ้นก็เลยเดินทางสะดวกขึ้นกว่าเดิมอีกนิดหน่อย แต่การเดินทางไปทำงานในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมง

ออดิทเป็นอาชีพที่เสนอเงินเดือนสำหรับนักศึกษาจบใหม่สูงกว่างานออฟฟิศทั่วๆ ไป เป็นงานที่โตเร็ว มีการเลื่อนขั้นพร้อมกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ยิ่งถ้าสอบ CPA ผ่านทั้ง 6 วิชาและได้ใบรับรองมาครอบครอง เงินเดือนก็จะเพิ่มไปอีกเท่ากันในทุกเดือนนับจากนั้น ข้อดีของอาชีพนี้อีกอย่างก็คือมีจำนวนวันหยุดต่อปีประมาณ 10-15 วัน คนที่ชอบไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ อย่างฉันก็เลยชอบเงื่อนไขข้อนี้มาก เพราะสามารถลาไปเที่ยวแบบติดต่อกันได้หลายวัน

 

งานที่ว่าหนักนักหนา มันแค่ไหนเชียว

Art by Palim

ฟังดูก็เข้าท่าดีใช่ไหม? แต่แน่นอนว่ามันต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง เวลาทำงานของอาชีพนี้ยาวนานกว่างานออฟฟิศแบบ 9 to 5 ทั่วไป เป็นงานออฟฟิศที่ไม่ต้องตอกบัตร มาสายได้ไม่ถูกหักเงินเดือน แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องกลับบ้านดึกแทบทุกวัน เพราะออดิทเป็นงานที่ต้องทุ่มเวลาให้ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงเมษายนที่เป็นช่วงเวลาออกงบของบริษัทต่างๆ

ต้องตรวจสอบรายการบัญชีที่เกิดขึ้นตลอดหนึ่งไตรมาสไปจนถึงตลอดทั้งปีของแต่ละบริษัทภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์ มีเอกสารมากมายที่ต้องตรวจสอบ มีหลายเรื่องที่ต้องอัปเดตการเปลี่ยนแปลง สอบถามลูกค้าเมื่อมีข้อสงสัย และต้องมีความละเอียดรอบคอบ ถ้าไปตรวจเจออะไรผิดเข้าก็ต้องเอามาเทียบกับมาตรฐานบัญชี และปรึกษาทีมเพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป ภาระหนักอึ้งจะอยู่ที่หัวหน้าทีมเพราะต้องคอยตรวจสอบการทำงานของคนในทีมด้วย

ทั้งหมดนี้ต้องเสร็จภายในเวลาที่จำกัด ซึ่งมันก็เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะคนที่ต้องเข้าจ๊อบสั้นๆ อยู่บ่อยๆ งานก็เลยค้างเป็นดินพอกหางหมูกันไป พอถึงบ้านก็เลยต้องเปิดคอมเคลียร์งานเก่า จากที่เลิกงานดึกอยู่แล้ว ก็ยังต้องมานั่งทำงานต่อที่บ้านอีก ยิ่งอยู่ขั้นสูงๆ ก็ยิ่งต้องรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะผู้จัดการทีมที่มักจะต้องอยู่ทำงานที่ออฟฟิศจนดึกดื่นถึงตีสอง ตีสาม เป็นประจำ หรือบางวันก็ยันหว่างไปเลย เพราะต้องดูแลงบของหลายบริษัทไปพร้อมๆ กัน

ด้วยงานจำนวนมากที่ต้องเสร็จภายในเวลาที่จำกัด ความเครียดจากการทำงานมันเลยถูกส่งต่อมาเป็นทอดๆ โดยอัตโนมัติ หัวหน้างานจำเป็นต้องเร่งลูกทีมให้ทำงานเสร็จไวๆ ส่วนลูกทีมเองก็เครียดที่ถูกกดดัน บางครั้งก็ต้องมาทำงานเสาร์-อาทิตย์ด้วยเพราะไม่ทัน และก็มักจะไม่ได้ OT เท่าที่ทำงานเกินเวลาไปจริงๆ เรื่อง work life balance นั้นลืมไปได้เลย

 

เป็นงานที่อยู่ออฟฟิศลูกค้ามากกว่าออฟฟิศของตัวเอง

Art by Palim

หากไม่นับผู้จัดการทีมและพาร์ทเนอร์ที่เป็นคนเซ็นรับรองงบ ออดิทต้องไปทำงานที่ออฟฟิศของลูกค้ามากกว่าออฟฟิศของบริษัทตัวเอง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ถ้ามองในแง่ดี การได้เปลี่ยนสถานที่ทำงานบ่อยๆ ก็น่าจะทำให้ชีวิตการทำงานไม่น่าเบื่อจนเกินไป แต่ถ้าเป็นในกรุงเทพ มันก็คือการได้เปลี่ยนโรงอาหารตอนพักเที่ยงเท่านั้นแหละ

ตื่นเต้นหน่อยก็ตอนที่ได้ตรวจบริษัทใกล้ห้าง ที่ทีมมักจะแวะกินอาหารในร้านดีๆ แก้เครียด ซึ่งก็เป็นแค่อีกวันที่มื้อกลางวันราคาแพงกว่าวันอื่นๆ ถ้าเป็นต่างจังหวัด ครั้งหนึ่งฉันเคยได้ไปตรวจบริษัทที่หัวหิน ตรวจเสร็จก็ได้ไปเดินตลาดโต้รุ่งต่อหลังเลิกงานเพราะอยู่ใกล้โรงแรม แต่การไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานที่เพิ่งรู้จักกันไม่กี่วัน มันก็ไม่สนุกเหมือนไปเที่ยวเองหรอก

ถ้าออฟฟิศลูกค้าอยู่ไกล ก็ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางเยอะขึ้นด้วย บางที่อยู่ไกลจากแนวรถไฟฟ้า ก็ต้องติดแหง็กในแท็กซี่บนท้องถนนนานขึ้น แถมยังต้องลุ้นทุกครั้งด้วยว่าจะได้ไปเจอกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าแบบไหน แบบที่รู้สึกว่าโล่งอกไปทีหรือแบบที่นับวันรอให้จ๊อบจบไวๆ

จะไปเจอกับลูกค้าแบบไหน แบบที่ให้ความร่วมมือดีหรือไม่ค่อยให้ความร่วมมือและออกแนวรำคาญออดิทด้วยซ้ำ เพราะเราไปเพิ่มงานให้เขา ส่วนใหญ่ลูกค้าเขาก็มีงานหลายอย่างที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องมาคอยซัพพอร์ทออดิท คอยตอบคำถามเจ้าหนูจำไมอย่างเราๆ และยิ่งเราไปเจอว่าเขาทำอะไรผิดเข้า ก็อาจสร้างความไม่พอใจให้กับพวกเขาได้ ทั้งๆ ที่อาชีพนี้ชี้ให้เห็นจุดบกพร่องและแนะนำวิธีแก้ไขให้ดีขึ้นสำหรับบริษัทลูกค้าแท้ๆ

 

ต้องรู้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

Art by Palim

ออดิทไม่ได้แค่ต้องตรวจรายการทางการเงินที่บันทึกโดยฝ่ายบัญชีเท่านั้น แต่ไปยุ่งกับเขาแทบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเงิน ฝ่ายบุคคล ฝ่ายการผลิต ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายจัดซื้อ และก็ฝ่ายอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายภายในองค์กร

เพราะออดิทต้องเข้าใจ nature ธุรกิจ เข้าใจระบบการทำงานทั้งหมดของบริษัทลูกค้า เอามาประเมินความเสี่ยงและหาวิธีในการตรวจสอบ ยิ่งบริษัทที่ยังไม่มีระบบการทำงานหรือระบบทางบัญชีที่พร้อมนัก ออดิทก็ยิ่งต้องทำงานตรวจสอบหนักกว่าบริษัทอื่นๆ แถมยังต้องรู้ที่มาของตัวเลขและวิเคราะห์แต่ละรายการบัญชีให้ถูกต้องและสมเหตุสมผลด้วย

งานที่ว่าหนักแล้ว ยังต้องแบ่งเวลาไปอ่านหนังสือเตรียมสอบ CPA อัปเดตความรู้ด้านกฎหมายและบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งโตก็ยิ่งต้องรู้ให้ครอบคลุมเพราะต้องใช้ในการทำงาน บริษัทมีจัดให้ไปติวฟรี ฉันเคยลองไปติวแล้วก็พบว่าตัวเองมักจะนับเวลาถอยหลังเมื่อไหร่จะจบคลาสทุกที

ฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่เปิดรับ เพราะบางเรื่องรู้สึกว่าไม่เห็นจำเป็นจะต้องรู้เลย ส่วนบางเรื่องที่ควรรู้ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยากรู้หรืออยากทุ่มเทเวลาให้กับมันขนาดนั้น ฉันเลยไม่มีแรงจูงใจที่จะอ่านหนังสือสอบทั้งหกวิชาที่บางคนกว่าจะได้มาต้องใช้เวลาถึง 3-5 ปีขึ้นไป ซึ่งฉันชื่นชมพวกเขามากๆ นะ คนที่ทำงานเป็นออดิทแล้วยังมี CPA ติดตัวด้วย พวกเขาคือคนเก่งและคนขยันตัวจริง

เพียงแค่เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางที่ฉันอยากเก่งและขยันแบบพวกเขาเท่านั้นเอง

จุดพลิกผันที่ทำให้ตัดสินใจลาออก

at Pianissimo Press ร้านขายการ์ด + งานศิลปะ ผู้เป็นเพื่อนบ้านที่น่ารัก

เงินเดือนได้มามากก็จริง แต่ก็ใช้ไปมากเช่นกัน หลังเลิกงานฉันมักเดินเข้าร้านอาหารตามห้าง กินอาหารในร้านดีๆ ให้รางวัลกับตัวเองหลังจากที่ทำงานเครียดๆ มาทั้งวัน พอเงินเดือนออกก็ตรงดิ่งเข้าห้างไปช้อปปิ้ง ให้รางวัลกับตัวเองหลังจากที่ทำงานเครียดๆ มาทั้งเดือน ฉันอยู่ในวังวนของการใช้เงินซื้อความสุข ทั้งๆ ที่รู้ว่าความสุขเหล่านี้เป็นแค่ของชั่วคราว

ฉันจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขจริงๆ ก็ตอนที่ได้ลาไปเที่ยวต่างประเทศไม่กี่วันต่อปีนั่นแหละ ทำให้มานั่งคิดว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราไปทำงานที่เงินเดือนอาจจะลดลง แต่งานไม่ต้องเครียดขนาดนี้ ฉันจะได้ไม่ต้องคอยเอาเงินที่ได้มาจากการทำงานอย่างหนักมาซื้อความสุขทดแทนอยู่ตลอดเวลา

สองปีครึ่งผ่านไปฉันเลยกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีความสุขในการทำงานเพราะต้องทำงานจนดึกดื่นทุกวัน ไม่ค่อยคุยเล่นเหมือนเคยเพราะอยากทำงานให้เสร็จไวๆ จะได้กลับบ้าน ไม่สบายก็ลาไม่ได้เพราะไม่งั้นงานไม่เสร็จ แต่กลับมาใช้วันลาป่วยลาไปพักในช่วง low season แทนเพราะว่าง (ซึ่งก็ทำได้อยู่แค่ไม่กี่วัน)

https://takemeaway.life/art-event/pianissimo-press/

at Pianissimo Press ร้านขายการ์ด + งานศิลปะ ผู้เป็นเพื่อนบ้านที่น่ารัก

ยิ่งงานสุดท้าย ที่ทำงานอยู่ไกล ทีมเลยต้องสั่งข้าวกลางวัน + เย็นมากินที่ห้องทำงาน ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันกันเลยตั้งแต่เช้าจนดึก เป็นงานแรกที่ฉันต้องเป็นหัวหน้าทีมดูแลสามบริษัทกับเทรนนีอีกหนึ่งคน เพราะงานที่หนักนั่นคนเลยลาออกเยอะมาก จนทีมยิ่งเล็กลงเรื่อยๆ แต่งานยังคงเท่าเดิมหรือไม่ก็มากกว่าเดิม

ฉันมองเห็นผู้จัดการทีมที่ยังคงนั่งทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง ในขณะที่ตัวเองกำลังเดินออกจากออฟฟิศตอนเที่ยงคืนเพื่อกลับบ้าน ยิ่งทำให้นึกภาพตัวเองทำงานในสายงานนี้แบบพวกเขาต่อไปในอนาคตไม่ออกจริงๆ เลยอยู่เพื่อเก็บเงินให้ได้สักก้อนหนึ่งแล้วลาออก จะได้ไปเริ่มต้นในสายงานอื่นที่อยากทำจริงๆ สักที วันสุดท้ายของการทำงานฉันอยู่ช่วยผู้จัดการทีมที่ออฟฟิศจนถึงตีสาม..

อยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในวันสุดท้าย ฉันทำเต็มที่แล้วจริงๆ

 

ในวันที่ฉันลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์

เอาจริงๆ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้แน่ชัดหรอกว่าตัวเองจะออกมาทำอะไร รู้สึกแค่ว่าตัวเองควรออกมาพัก แล้วค่อยมาตั้งหลักอีกที แต่ก่อนที่จะลาออก ฉันมักจะไปนั่งเล่นที่ Co-working space แถวบ้าน เห็นแฟนตัวเองกับคนอื่นๆ ที่มานั่งทำงานที่นี่แล้วก็อยากจะเป็นแบบเขาบ้าง ดูมีอิสระดีจัง ตื่นกี่โมงก็ได้ กินข้าวเช้าแบบไม่ต้องรีบ นั่งรถไฟฟ้าแค่สถานีเดียวก็ถึง แวะซื้อกาแฟ (ส่วนฉันจะซื้อชานม) แล้วค่อยไปนั่งทำงาน เหนื่อยก็ค่อยเปลี่ยนมาอ่านหนังสือเล่นบนโซฟา

ก็เลยมีความคิดว่าถ้าฉันทำงานได้อิสระแบบนั้นบ้างก็คงจะดี นั่นก็คือจุดเริ่มต้นความคิดการเป็นฟรีแลนซ์ของฉัน โชคดีที่แฟนแนะนำให้รู้จักกับแอปพลิเคชันสำหรับฟรีแลนซ์ที่คนใช้กันทั่วโลกอย่าง Upwork แล้วฉันก็ค้นพบอีกว่ายังมีแอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกันอีกมากมาย เช่น People per hour, Appen, Nganyiam, Fiver และ Workshift

ฉันก็เลยลองสมัครแอปเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะลาออกจากงานประจำ การแข่งขันในแอปออนไลน์เหล่านี้ค่อนข้างสูง เพราะลูกค้ามีตัวเลือกเยอะ และโปรไฟล์ของฉันยังใหม่ แต่มันก็ต้องเริ่มนับ 1 จากที่ไหนสักที่นั่นแหละ ฉันเลยลุยสมัครงานที่ถูกโพสไว้อยู่หลายงาน จนในที่สุดก็ได้เซ็นสัญญาฟรีแลนซ์งานแรกเป็นแอดมินดูแลเพจเฟสบุ๊คของแบรนด์อาหารแบรนด์หนึ่ง

ออกจากงานประจำปุ๊ปก็เลยมีงานใหม่ทำเลย แต่เป็นแค่จ๊อบเล็กๆ ที่ได้ค่าตอบแทนต่อเดือนแค่ 250 ดอลลาร์เท่านั้น หน้าที่คือคอยตอบแชทลูกค้าตามข้อมูลที่บริษัทเตรียมไว้ให้ แล้วก็แปลคอนเทนต์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พิมพ์คุยงานกับบริษัทแบบออนไลน์ คนที่ดูแลเป็นผู้หญิงชาวอินโดนีเซีย คุยดีมาก แต่ทำอยู่ได้แค่สองเดือนก็ต้องหยุดไปเพราะเขายุบเพจไทยไปรวมกับเพจอาเซียนแทน

Kolkata, India – September 2018

โชคดีที่ช่วงนั้นฉันได้เรียนรู้วิธีการสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองจากรุ่นพี่ที่รู้จักในค่ายสิ่งแวดล้อม ทำให้ฉันมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองที่ชื่อว่า Takemeaway.life และสนุกไปกับการเขียนเล่าเรื่องราวการเดินทางของตัวเอง ปีนั้นยังเป็นปีที่มีการจัดงานอีเว้นท์ WordPress ระดับโลกในไทยพอดี ฉันเลยตัดสินใจไปร่วมงานคนเดียวแบบเหงาๆ

พาร์ทเลคเชอร์ค่อนข้างน่าเบื่อ แต่ช่วงบ่ายจะมีชั่วโมงให้รวมกลุ่มเพื่อพูดคุยกัน โดยสามารถเลือกห้องที่อยากจะเข้าร่วมเองได้ ตอนแรกฉันว่าจะหนีกลับบ้านแล้ว แต่ก็เปลี่ยนใจ รวบรวมความกล้าเข้าไปร่วมในห้องหนึ่งที่มีหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการเขียนคอนเทนต์

โชคดีได้เจอพี่คนหนึ่งที่เป็น Content manager ของ Shopback ในงาน เลยคว้าโอกาสให้ตัวเองด้วยการฝากเนื้อฝากตัว ฝากโปรไฟล์งานเขียนในเว็บไซต์ของตัวเองให้พี่เขาไว้พิจารณา จนมีโอกาสได้ร่วมงานกับ Shopback และได้เงินจากการเขียนบทความเป็นครั้งแรก ดีใจมาก!

การร่วมงานกับ Shopback ในครั้งนั้นทำให้ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความเยอะมาก เพราะพี่คนที่ตรวจจะคอยให้ข้อเสนอแนะตลอด แถมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับ SEO ว่าต้องเขียนภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้บทความของเราติดหน้า 1 ใน Google ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจสำหรับฉัน

ลองผิด ลองถูก

AIS Design Center Co-working Space สถานที่ทำงานหลักของฟรีแลนซ์มือใหม่อย่างฉัน

เพราะงานฟรีแลนซ์มักจะเป็นโปรเจ็คย่อยๆ ฉันเลยต้องลุยสมัครงานอย่างต่อเนื่อง ฉันสมัครงานที่คิดว่าตัวเองทำได้ แม้จะไม่เคยทำมาก่อน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย ได้รับเลือกบ้าง ไม่ได้รับเลือกบ้าง จนค่อยๆ ได้เริ่มทำงานที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่งานค้นหาข้อมูลออนไลน์ โทรสอบถามข้อมูล ซึ่งเป็นงานแรกๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง ซึ่งถือเป็นดีลที่คุ้มค่าสำหรับฟรีแลนซ์มากๆ เพราะใช้เวลาไปกับการทำงานจริงเท่าไหร่ ก็จะได้ค่าตอบแทนไปตามนั้น

งานฟรีแลนซ์มีทั้งที่ได้ค่าตอบแทนดีและไม่ดี แต่ฉันไม่ได้เลือกมากในช่วงแรกๆ เพราะอยากลองทำงานใหม่ๆ และค่อยๆ สร้างโปรไฟล์ฟรีแลนซ์ของตัวเองขึ้นมาจากที่ไม่มีอะไรเลย งานเขียนบทความภาษาอังกฤษแรกที่รับราคาแค่ 7 ดอลลาร์ ต้องเขียนอยู่สักพักกว่าจะเสร็จ ลูกค้าคงเห็นใจให้โบนัสเพิ่มอีก 2 ดอลลาร์ด้วย ฮ่า แต่ฉันก็สามารถใช้เป็นตัวอย่างงานสำหรับสมัครงานเขียนบทความภาษาอังกฤษในครั้งต่อไปได้

หรือเป็นงานเขียนบล็อกภาษาไทยราคา 8 ดอลลาร์ต่อบล็อกที่รับทำอยู่นานถึง 4 เดือน เพราะเป็นงานเขียนบล็อกงานแรกที่โพสโดยตรงบน WordPress และฉันก็อยากใช้โอกาสนี้ฝึกเขียนให้ได้เร็วขึ้น ซึ่งช่วงหลังๆ ก็เขียนได้ไวขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

งานอื่นๆ ก็มีบันทึกข้อมูลเอกสารลงบน Excel ที่มีค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงเหมือนกัน งานผู้ช่วยนักธุรกิจชาวเกาหลีที่เข้ามาทำวิจัยในไทย เป็นนายหน้าหานักแปลคนไทยทำงานให้กับบริษัทแปลจากเกาหลี ได้ค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่น งานอย่างหลังเป็นงานแรกที่ได้เงินพอๆ กับงานประจำ แต่งานค่อนข้างเร่งและเสี่ยง เพราะลูกค้าเสนอไว้ว่าจะจ่ายเงินให้หลังงานเสร็จประมาณหนึ่งเดือน พอทำหลายโปรเจ็คเข้า ฉันก็ต้องคอยตามให้ลูกค้าจ่ายเงินเพื่อที่จะได้จ่ายให้นักแปลคนอื่นต่อ พอจบงานก็เลยได้ถอนหายใจไปเฮือกหนึ่ง

มุมโปรดของฉันใน Co-working space

ช่วงนั้นฉันไปเที่ยวที่กัมพูชาประมาณสองอาทิตย์ ก็เลยได้ลองเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วยเป็นครั้งแรก สัมผัสชีวิตแบบ Digital Nomad ที่เคยได้แต่เห็นคนอื่นเขาทำกัน การเป็นฟรีแลนซ์ที่มีแค่คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้บนโลก (ที่มีอินเทอร์เน็ต) กลายเป็นสิ่งที่ฉันใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็น แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แวว เพราะตอนนั้นรายรับยังไม่อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าอยู่ตัว

หลังจากกลับมาไทยก็ได้ลองเป็นล่ามจริงจังครั้งแรกให้กับบริษัทญี่ปุ่น ล่ามเป็นอาชีพที่ฉันอยากลองทำมาตลอด เพราะได้พูดภาษาอังกฤษ ได้ทำงานนอกสถานที่ ดูไม่น่าเบื่อ และได้ค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เพื่อนคนหนึ่งเห็นว่าฉันเคยทำงานเป็นล่าม ก็เลยเรียกให้ไปช่วยงานเป็นล่ามให้กับบริษัทของเพื่อนอีกทีที่ต่างจังหวัดเพราะขาดคน ทำติดกันหลายวันก็ได้เป็นเงินก้อนมา ล่ามคืองานที่ได้ค่าตอบแทนสูงที่สุดท่ามกลางงานฟรีแลนซ์หลายๆ งานที่ได้ลองทำ แต่ถ้าเป็นล่ามก็ต้องอยู่แค่ในไทยเท่านั้น ฉันดันมีแพลนที่จะไปอยู่ต่างประเทศในอนาคตนี่สิ

หลังจากนั้นฉันได้งานแบบระยะยาวเป็นนักบัญชี AR ให้กับบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง ทำงานแบบ remote ได้ แต่ต้องแวะเข้าออฟฟิศอาทิตย์ละครั้ง ตอนแรกก็คิดว่าเป็นการลงบัญชีปกติ แต่จริงๆ แล้วงานหลักคือการโทรทวงหนี้ให้ลูกค้า และเพิ่งมารู้ทีหลังว่าต้องเข้าประชุมออนไลน์ในเช้าถัดไปทุกวัน เพื่อรายงานว่าวันก่อนหน้าทำอะไรมาบ้าง ฟังแล้วไม่น่าสนุกเลยใช่ไหมล่ะ ฉันทำได้แค่เดือนเดียวก็เลยต้องขอหยุดไปแม้จะรายได้ดีก็ตาม ตอนนั้นสมัครวีซ่าไปยุโรปสองเดือนแล้วได้รับอนุมัติ เลยใช้เป็นข้ออ้างได้พอดี

จากนั้นฉันก็พักงานไปสามเดือนกว่า เดินทางท่องเที่ยวในยุโรปเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่จนเงินเก็บเกือบหมด ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่า เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดการระบาดของโควิด 19 ไปทั่วโลก ตอนนี้เราไม่รู้เลยว่าจะกลับไปท่องโลกแบบไร้กังวลเหมือนตอนนั้นได้อีกเมื่อไหร่

 

เส้นทางการเป็นฟรีแลนซ์ที่มั่นคงเป็นไปได้.. แต่ต้องใช้เวลา

 Chirstiania, Denmark – Europe trip 2019

หลังจากทริปยุโรปสามเดือนกว่าของฉันจบลง ก็ได้เวลาที่ต้องกลับไทยและเริ่มต้นหางานทำใหม่อีกครั้ง ฉันลุยสมัครงานไปเกือบสองอาทิตย์ แทบไม่ได้รับการตอบกลับเลย แต่ก็ยังคงลุยสมัครต่อไป มันจะต้องมีตอบรับกลับมาบ้างแหละหน่า จนในที่สุดก็ได้งานใหม่เป็นฟรีแลนซ์นักแปลให้กับบริษัทวิจัยทางการตลาดออนไลน์แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ

การทำงานของบริษัทค่อนข้างเป็นระบบ พนักงานส่วนใหญ่ทำงานแบบ remote ด้วยกันทั้งนั้น พวกเราเทรนงานกันผ่านวิดีโอคอล พูดคุยงานผ่านแชทกลุ่มของบริษัทบนแพลตฟอร์มออนไลน์ บริษัทยังมีระบบเป็นของตัวเองที่ทำให้การทำงานง่ายและสะดวกมากขึ้น ปัจจุบันฉันยังทำงานให้กับบริษัทนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาปีกว่าแล้ว และเพิ่งได้เซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อไม่นานมานี้เอง

หลังจากนั้นฉันก็ค่อยๆ มีงานเข้ามาเรื่อยๆ อีกครั้ง ทั้งงานแปลเอกสารต่างๆ งานแปลกๆ อย่างถ่ายรูปสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือดูวิดีโอแล้วให้ข้อเสนอแนะ หรืองานที่ลองทำครั้งเดียวก็พออย่างงานบันทึกเสียง (voice over) เพราะหาที่เงียบๆ บันทึกเสียงได้ยากมาก ฉันเองก็ไม่มีอุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงที่เหมาะสมเสียด้วย

งานถอดเสียงภาษาไทย (transcription) แปลซับวิดีโอ แปลบทความ แปลแอปพลิเคชัน แปลเว็บไซต์ แปลโฆษณาใน Google ads หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ แปลงบการเงิน เป็นล่ามออนไลน์ เขียนคอนเทนต์ งาน proofread งานแปลของคนอื่นอีกที และอื่นๆ อีกเพียบที่ฉันก็เพิ่งได้ค้นพบว่างานฟรีแลนซ์บนโลกออนไลน์นั้นหลากหลายมาก

จากที่ได้ทดลองทำหลายงาน งานแปลเป็นงานที่ฉันชอบที่สุด เพราะได้ใช้ทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองตามที่ต้องการ ได้พัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองอยู่ตลอดเวลา สามารถทำที่ไหนก็ได้ และเป็นงานที่สามารถทำตั้งแต่ต้นจนจบเองได้โดยไม่ต้องมีคนอื่นมาคอยเซ้าซี้ แค่ต้องทำงานให้เสร็จตามเดดไลน์ที่ลูกค้ากำหนดไว้เท่านั้น ต่อมาฉันเลยเลือกที่จะสมัครงานแปลมากกว่างานอื่นๆ

at Flohmarkt im Mauerpark, indie market in Berlin, Germany

ลูกค้าบางรายจะมีแบบทดสอบสั้นๆ ให้ลองทำเพื่อเป็นวิธีในการเลือกคนไปร่วมงานด้วย แม้ฉันจะไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษมาโดยตรงแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคเลย ที่ผ่านมามีลูกค้าแค่รายเดียวเท่านั้นที่บอกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าฉันไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษมาโดยตรง

งานอีกอย่างที่ฉันชอบก็คืองานเขียนบทความ (content writing) เพราะเป็นงานที่สนุก ได้ร้อยเรียงความคิดของตัวเองออกมาผ่านตัวอักษร แต่ก็เป็นงานที่ต้องใช้พลัง เพราะต้องเขียนออกมาให้น่าอ่าน ตรงตามเงื่อนไขที่ลูกค้าต้องการ และต้องมีการค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือเพื่อมาซัพพอร์ท บางครั้งก็ต้องใช้ทักษะการแปลเข้าช่วยด้วย

บางทีทำงานแปลเยอะๆ เข้าก็เริ่มรู้สึกเบื่อ ฉันก็จะรับงานเขียนเข้ามาด้วยเพื่อทำสลับกันไป ส่วนใหญ่ฉันจะได้งานเขียนบทความทั้งไทยและภาษาอังกฤษผ่านแอปพลิเคชัน Fastwork ซึ่งเป็นแอปฟรีแลนซ์ของคนไทยโดยเฉพาะ

ตอนแรกๆ ที่ฝากโปรไฟล์ไว้ไม่มีใครเข้ามาจ้างเลย ฉันเลยพยายามแก้ไขใหม่ ใส่พอร์ทเข้าไปแบบจัดเต็มให้ดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะเริ่มมีประสบการณ์ด้านการเขียนเพิ่มขึ้น จนในที่สุดก็เริ่มมีคนเข้ามาจ้างคนแรก จำได้ว่าดีใจมาก! พยายามเขียนให้ดีที่สุด จากนั้นก็มีคนทักเข้ามาเรื่อยๆ ฉันพยายามรับงานผ่านช่องทางนี้เพิ่มเพื่อที่จะได้มีรายได้มากกว่า 1 ช่องทาง

นับจากวันแรกจนถึงวันนี้ ฉันสมัครงานบนโลกออนไลน์มาแล้วกว่า 500 งานและได้รับเลือกแค่ประมาณ 80 งานเท่านั้น นั่นหมายความว่าฉันต้องสมัครถึง 7 งานด้วยกัน กว่าจะได้รับการตอบรับให้ทำงานงานหนึ่ง เหนื่อยใช่ย่อยอยู่เหมือนกัน แต่นั่นก็ทำให้โปรไฟล์ที่ว่างเปล่าของฉันค่อยๆ ถูกเติมเต็มไปด้วยประสบการณ์

 

เป็นฟรีแลนซ์ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด บริหารงานให้ดี และแฟร์กับลูกค้า

at Footprints Cafe – Siemreap, Cambodia

เป็นฟรีแลนซ์ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยเฉพาะถ้าทำบนแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ เพราะแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาให้ลูกค้าสามารถให้คะแนนรีวิวและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเราได้ในภายหลัง และนั่นก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจจ้างงานของลูกค้ารายต่อไป

ข้อดีอีกอย่างของการเป็นฟรีแลนซ์ก็คือ “เราเลือกงานได้” ช่วงแรกๆ ฉันไม่ค่อยเกี่ยงงานเพราะยังใหม่ แต่พอเริ่มทำมาสักระยะหนึ่งจนโปรไฟล์เริ่มน่าเชื่อถือมากขึ้น ฉันก็เลือกงานมากขึ้น พยายามเลือกงานที่เราอยากทำและมีค่าตอบแทนที่คุ้มค่าเหนื่อย เพราะถ้ามีส่วนผสมของสองอย่างนี้แล้วเราจะทำมันได้ดี ผลลัพธ์ก็จะออกมาดีและแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย

หากลองคุยกับลูกค้าคนไหนแล้วรู้สึกว่าลูกค้าคุยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ท่าทางจะไม่โอเค ฉันก็จะไม่เสียดายและบอกปฏิเสธงานไป หรือถ้าลองทำแล้วกลับไม่ชอบ ฉันก็จะยังพยายามทำให้ดีที่สุดและอดทนจนกว่างานจะจบ ถ้าเป็นงานระยะยาวและรู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องขอปฏิเสธไป

at Wat Else Cafe, Siemreap, Cambodia

แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมา ฉันเจอลูกค้าที่พูดจาไม่ดีด้วยน้อยมาก ส่วนใหญ่คุยดีทั้งนั้น อาจเป็นเพราะไม่ต้องมาเจอกันแบบซึ่งๆ หน้าด้วยมั้ง ทำให้แทบไม่เคยต้องเครียดเรื่องคนเลย ตรงข้ามกับบรรยากาศในงานประจำก่อนหน้านี้ที่มักจะรู้สึกว่าโดนกดดันอยู่บ่อยๆ แต่เป็นฟรีแลนซ์ออนไลน์แบบนี้ก็เหงานะ บรรยากาศที่ได้ไปกินข้าวกับที่ทำงานแบบสนุกสนานเฮฮาก็หายไปเลย แต่นั่นก็ทำให้ประหยัดเงินไปได้เยอะมากเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่ทุกวันนี้ฉันมักจะทำกับข้าวกินเอง

เป็นฟรีแลนซ์ต้องบริหารงานให้ดี จะรับงานมาเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าสามารถส่งมอบงานได้ตามเวลาที่ตกลงไว้ ทุกครั้งที่รับงานมา ฉันจะจัดสรรวันเวลาสำหรับงานนั้นๆ เป็นรายการสิ่งที่ต้องทำบนปฏิทินออนไลน์ จะได้ส่งงานได้ทันตามเดดไลน์

ฉันมักจะรับงานเร่งในกรณีที่ค่าตอบแทนคุ้มค่ามากพอและมีเวลาทำให้เสร็จได้ตรงตามเวลาเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่รับงานด่วนเลยเพราะจะทำให้เครียดเปล่าๆ ทุกวันนี้ฉันทำงานแค่ประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพราะช่วงนี้ฉันต้องเจียดเวลาไปเรียนภาษาเยอรมันเพิ่มเติมด้วย

วิวจากบ้านเช่าของฉันในวันที่หิมะตกเมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย

ศัตรูตัวฉกาจของคนที่เป็นฟรีแลนซ์ก็น่าจะเป็นความขี้เกียจตัวเป็นขนของคนเรานี่แหละ โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 ที่ต้องอยู่บ้านยาวๆ ที่ทำงานของฉันมักจะเป็นบนเตียงนอน ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งของการเป็นฟรีแลนซ์ก็คือ อาจจะโดนลูกค้าเบี้ยวไม่จ่ายเงินได้หากรับงานนอกแบบปากเปล่าเพราะไม่มีเครื่องการันตี ฉันเองเคยโดนประมาณ 3 ครั้ง โชคดีที่เป็นแค่งานเล็กๆ เท่านั้นและยังถือเป็นส่วนน้อยมากๆ เพราะส่วนใหญ่ก็จ่ายให้ปกติ ฉันพยายามไม่เครียดเพราะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ลูกค้าเป็นต่างชาติ คุยกันแบบออนไลน์ หาตัวจับไม่ได้ เลยได้แต่เรียนรู้จากมัน หันมาเลือกลูกค้ามากขึ้น และหลังๆ ฉันไม่ค่อยรับงานแบบปากเปล่าแล้ว เพราะรับงานผ่านแพลตฟอร์มฟรีแลนซ์จะช่วยการันตีเรื่องจ่ายเงินได้ดีกว่า

การเป็นฟรีแลนซ์ก็คือเป็นนายตัวเอง ต้องจัดการเองทุกอย่าง ไม่มีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ทำเยอะก็ได้เยอะ ทำน้อยก็ได้น้อย แต่ทุกคำที่แปล ทุกคำที่เขียน ทุกชั่วโมงที่ทำงาน จะได้ค่าตอบแทนเท่าที่ทำจริงทั้งสิ้น หากพยายามมาถึงจุดนึงแล้ว บางเดือนก็จะได้ค่าตอบแทนมากกว่าเงินเดือนจากงานประจำซะอีก

ปัจจุบันฉันไม่ต้องคอยสมัครงานใหม่อยู่บ่อยๆ เหมือนเดิมแล้ว เพราะได้งานแปลให้กับหลายบริษัทในระยะยาว และยังมีลูกค้าประจำจากงานก่อนๆ ทยอยส่งงานให้ทำจนล้นมือ ต้องบอกปฏิเสธไปอยู่หลายครั้ง โควิด 19 ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการทำงานของฉันมากนัก

ฉันไม่มั่นใจเลยในช่วงแรกๆ แต่คิดอยู่เสมอว่าถ้าเราทำในสิ่งที่ชอบ เราจะทำมันได้ดี และพยายามมาตลอดที่จะทำให้อาชีพฟรีแลนซ์ของตัวเองมั่นคงพอที่จะเลี้ยงชีพได้

ในที่สุดฉันก็ทำได้แล้ว..

คุณคือใครคนนั้นที่อยากเป็นฟรีแลนซ์ แต่ยังไม่กล้าก้าวออกมาจาก Comfort zone หรือเปล่า?

at Pianissimo Press ร้านขายการ์ด + งานศิลปะ ผู้เป็นเพื่อนบ้านที่น่ารัก

ปัจจุบันฉันเรียกตัวเองว่าเป็นฟรีแลนซ์นักแปลและนักเขียนคอนเทนต์อังกฤษและไทย ฉันพูดได้อย่างเต็มปากว่าฉันมีความสุขกับการทำงานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และน่าจะมีความสุขมากกว่านี้อีก ถ้าได้มีโอกาสทำงานกับองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมหรือองค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะฉันอยากมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องพยายามกันต่อไปในอนาคต..

ฉันเคยคิดว่าอยากเป็น Digital Nomad จะได้ทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะการเดินทางท่องโลกคือความฝันของฉันมาตลอด โควิดก็ดันมาดับฝันไปเสียก่อน แต่ก็เพราะโควิดที่แหละที่ทำให้ฉันสามารถทุ่มเทเวลาให้กับงานได้เต็มที่ จนพาตัวเองมายืนอยู่ในจุดที่ต้องการได้เร็วกว่าที่คิด

at Bettermoon Cafeคาเฟ่โปรดของฉันที่กรุงเทพ

ปัจจุบันฉันอาศัยอยู่ที่เมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย ฉันเคยคิดมาตลอดว่าอยากมีโอกาสลองใช้ชีวิตในต่างประเทศ และวันนี้ก็ได้หยิบยื่นโอกาสนั้นให้กับตัวเองแล้ว ประเทศจอร์เจียเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดรับชาวต่างชาติ คนไทยและอีกหลายๆ ประเทศสามารถอยู่ได้นานถึง 1 ปี ค่าครองชีพถูก ผู้คนเป็นมิตร บ้านเมืองสวย และยังมีธรรมชาติที่งดงามมากอีกด้วย

ข้อดีของการเป็นฟรีแลนซ์ยังมีมากกว่านั้น เป็นฟรีแลนซ์ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อรีบร้อนไปทำงาน ไม่ต้องเบียดกับคนอื่นบนรถไฟฟ้าหรือติดแหง็กบนท้องถนนเป็นชั่วโมงแทบทุกวัน ทำให้ประหยัดค่าเดินทางแล้วก็ยังประหยัดค่ากินได้อีกเยอะ เพราะฉันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องเดินเข้าร้านอาหารแพงๆ เพื่อหาอะไรอร่อยๆ กินแก้เครียดบ่อยเหมือนเดิมอีกต่อไป จากคนที่ทำกับข้าวไม่เป็น การทำอาหารกลายเป็นงานอดิเรกใหม่ของฉัน

ทำอาหารง่ายๆ กินเองบ่อยๆ ช่วยประหยัดเงินได้เยอะ

ความอยากได้อยากมีของฉันลดลง ฉันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องเอาเงินเดือนที่ได้ไปซื้อความสุขชั่วคราว เพื่อกลบความเครียดจากการทำงานเหมือนที่เคยเป็น ไม่ต้องเดินเข้าห้างทุกสิ้นเดือนไปซื้อของราคาแพงเพื่อปลอบประโลมตัวเองอีกต่อไป ฉันเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น และสามารถเก็บเงินก้อนใหญ่อย่างที่ตั้งใจไว้ได้จริงๆ

ตอนทำงานประจำฉันอยากให้แต่ละวันผ่านไปเร็วๆ ตอนเป็นฟรีแลนซ์ฉันอยากให้เวลาเดินช้าลงกว่านี้ ฟรีแลนซ์อนุญาตให้ฉันหยุดพักในวันที่รู้สึกเหนื่อย ไม่สบาย หรือเวลาที่อยากพักได้ ตอนทำงานที่ Co-working space ในไทย หลังมื้อเที่ยงฉันมักจะไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่อยู่ติดกันแล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ นั่นคืออีกสิ่งที่ฟรีแลนซ์ให้กับฉัน ความรู้สึกที่เป็นอิสระ อิสระที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ใด หรือขึ้นอยู่กับใคร

ต้องเริ่มจากการรวบรวมความกล้า พาตัวเองก้าวออกมาจาก comfort zone พอเปิดโอกาสให้กับตัวเองแล้ว ก็ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง เชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด พัฒนาตัวเองขึ้นในทุกๆ วัน และอย่ายอมแพ้ง่ายๆ เพราะบางอย่างกว่าจะได้มา มันต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายาม

คนตัวเล็กๆ ในภาพ Cover คือฉันเอง ตอน hiking ที่เมือง Usuguli ประเทศจอร์เจีย

 

ฉันไม่เคยอยากเป็นออดิทที่เก่งกว่าเมื่อวานเลย

แต่ตอนนี้ฉันอยากเป็นนักแปลและนักเขียนที่เก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน

 

Go where your heart believes.

 

It’s me.

ตรีสุคนธ์ จีระมะกร

ฟรีแลนซ์นักแปลและนักเขียนคอนเทนต์

ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่: Takemeaway Facebook Page

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.