นั่งรถไฟในอินเดีย ตอนที่ 4 : พักใจที่กายา

นั่งรถไฟในอินเดีย ตอนที่ 4 : พักใจที่กายา

ระหว่างพาราณสีถึงโกลกาตาค่อนข้างไกลเราเลยต้องหยุดพักเมืองนึงระหว่างทางก่อน วันนึงในโรงแรมที่อัครา บังเอิญเจอหนังสือท่องเที่ยวเลยหยิบมาดู มีเมืองนึงชื่อ “กายา” ที่น่าสนใจเพราะมีสถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่นั่น เป็นเมืองที่อยู่ระหว่างทางพอดี เราเลยอยากแวะที่เมืองนี้ เมืองที่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะไปกลับเป็นเมืองที่เราชอบมากที่สุดในทริปนี้..

ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน

เดินผ่านบ้านหลากหลายสีสันที่เค้ากำลังช่วยกันทาสีบ้านด้วยตัวเอง

เราเดินทางด้วยแชร์ตุ๊กๆคันเล็กๆที่ด้านหลังถูกนำกล่องไม้มาวางไว้เป็นที่นั่งทำให้โดยสารได้พร้อมกันทั้งหมดเกือบ 10 คนและเดินทางไกลในราคาแค่คนละ 40 บาทแค่ต้องเบียดๆกันหน่อย ฮ่าๆ มาถึงตลาดก็เห็นมีพระเดินอยู่ตามท้องถนน เราเดินไปเรื่อยๆ ก็มีคนอินเดียชวนเราคุยเป็นภาษาไทยบอกว่าไปเรียนที่วัดไทยมา พระอาจารย์สอนฟรี เราหยุดที่ร้านขายหนังสือแห่งหนึ่ง ข้างในมีสติ๊กเกอร์เขียนว่า “Free Tibet” ขายอยู่ เพราะทิเบตเป็นเมืองขึ้นของจีนอยู่ในขณะนี้ เราคิดว่าเพิ่งเป็นมาไม่นาน แต่จริงๆเป็นมานานเกือบ 70 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างที่เราอยู่ที่อินเดียเห็นพี่ฌอน บูรณะหิรัญ นักสร้างแรงบันดาลใจไอดอลของเราลงรูปใน IG ว่าเข้าพบดาไลลามะที่อินเดีย เราเลยเพิ่งรู้ว่าท่านอยู่ที่อินเดียไม่ใช่ทิเบต

วัดทิเบตในกายา

ดาไลลามะองค์ที่ 14 ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตท่านนี้ต้องเดินทางออกนอกทิเบตมาอยู่ที่อินเดียเพราะถูกทางการจีนขอให้ออกจากประเทศ ผู้คนตายมากกว่า 1 ล้านคน และ วัดถูกทำลายมากถึง 40,000 แห่งจากการรุกรานของจีนและการลุกขึ้นสู้ของคนในทิเบต เราอยากแนะนำให้ทุกคนดูหนังเรื่องนึงมากชื่อว่า “7 years in Tibet” (1997)

เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงของดาไลลามะองค์ที่ 14 ตั้งแต่ยังเด็กกับชายชาวเยอรมันนักปีนเขาที่เดินทางไปปีนเขาเอเวอร์เรสแต่กลับถูกทางการอังกฤษจับในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้องหลบหนีเข้าทิเบต ด้วยความใฝ่รู้ในเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับโลก ดาไล ลามะจึงเรียกชายเยอรมันคนนี้เข้าพบ จนกลายมาเป็นอาจารย์และเพื่อนมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นหนังที่เราชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ภายในร้านมีป้ายที่ทำจากผ้าที่มีคำพูดขององค์ดาไลลามะขายอยู่ด้วย เราชอบมาก กล่าวไว้ว่า…

The true meaning of life

“We are visitors on this planet.

We are here for ninety or one hundred years at the very most.

During that period, we must try to do something good, something useful, with our lives.

If you contribute to other people’s happiness, you will find the true goal, the true meaning of life”

วัดพุทธคยาหรือวัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) ภายในมีต้นพระศรีมหาโพธิ์และที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าถูกดูแลรักษาไว้อย่างดี ต้นโพธิ์แผ่กิ่งก้านสาขาออกมามากมายจนต้องมีไม้มาค้ำไว้เพื่อพยุง มีผู้คนนั่งสมาธิอยู่โดยรอบใกล้ๆต้นโพธิ์ มีเสียงพระสงฆ์ไทยสวดมนต์อยู่ที่สวนด้านข้าง มีผู้คนนุ่งขาวห่มขาวเดินทางมาจากศรีลังกากำลังทำพวงมาลัยดอกดาวเรืองมากมายแล้วทั้งคนและพระสงฆ์ช่วยกันนำมาตกแต่งให้วัดสวยงาม คนศรีลังกาเห็นเรายืนมองด้วยความสนใจเลยเรียกให้เราไปช่วยนำพวงมาลัยไปแขวนด้วยอีกแรง

เราพูดคุยกับคนศรีลังกาถึงทริปครั้งที่แล้วด้วยว่าเราชอบศรีลังกามาก พวกเค้ามาจากกอลล์เมืองติดทะเลทางใต้ของศรีลังกาที่เราไปมา (อ่านเกี่ยวกับเมืองนี้ได้ที่นี่ 9 วันในศรีลังกา ตอนที่ 7 : ชิวๆที่กอลล์ ) พระสงฆ์และแม่ชีจากหลากหลายสัญชาติสังเกตุได้จากการแต่งกายเดินรอบโบสถ์ 3 รอบและเข้าไปไหว้พระพุทธรูปที่อยู่ทางด้านใน คนอินเดียกราบพระพุทธรูปกันอย่างตั้งใจ เราเองก็ได้มีโอกาสเข้าไปสักการะพระพุทธรูปด้วย

เราเห็นคนไทยที่นี่หลายคน กำลังนั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์และใกล้กับต้นโพธิ์ ระหว่างที่นั่งอยู่ทางด้านนอกโบสถ์ ก็มีแม่ชีท่านนึงซึ่งเราคิดว่าเป็นคนไทยยิ้มให้เราระหว่างที่ท่านกำลังเดินพนมมือรอบตัวโบสถ์ และโบกมือบ๊ายบายเราเมื่อครบ 3 รอบ ณ ขณะนั้น เรารู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกจนน้ำตาคลอที่ได้มาที่นี่ หลังจากความวุ่ยวายที่พาราณาสี เมืองนี้และที่วัดแห่งนี้เองให้ความรู้สึกสงบกับเรา ผู้คนยิ้มแย้มให้กัน ทุกคนต่างมาเพื่ออยากเข้าใกล้กับต้นโพธิ์ให้มากที่สุด ได้มาที่สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาแห่งนี้เพื่อทำประโยชน์ ช่วยกันตกแต่งวัดให้สวยงาม

โดยรอบวัดจะมีวัดมากมายจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น ไทย พม่า เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน ทิเบต ภูฏาณ มองโกเลีย เราลองแวะวัดทิเบต และ ภูฏาณดู เราชอบวัดภูฏาณมาก เพราะเค้ามีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่ถูกทำออกมาในรูปแบบ 3 มิติ สวยและแปลกตาดี ไม่เคยเห็นมาก่อน

เรื่อง : ตรีสุคนธ์ จีระมะกร (ตรี)

อ่านก่อนหน้าได้ที่นี่ : ตอนที่ 3 : วัดใจตัวเองที่พาราณสี

อ่านตอนต่อไปได้ที่นี่ : ตอนที่ 5 : โกลกาตา ลาก่อน

2 Comments