[รีวิว] ขั้นตอนจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทยและขอวีซ่าติดตามคู่สมรสเยอรมัน

[รีวิว] ขั้นตอนจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทยและขอวีซ่าติดตามคู่สมรสเยอรมัน

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่กำลังวางแผนแต่งงานกับคนเยอรมันน่าจะกำลังสับสนไม่น้อย เกี่ยวกับขั้นตอนในการจดทะเบียนสมรสกับชาวเยอรมันอยู่ใช่ไหมคะ เพราะตัวผู้เขียนเองก็เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน ต้องคอยหาข้อมูลอยู่หลายที่และหลายครั้ง กว่าจะเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทยทั้งหมด อะไรก่อนอะไรหลัง มีเอกสารอะไรที่ต้องเตรียมบ้าง และค่าใช้จ่ายเป็นเท่าไหร่

ในบทความนี้ ผู้เขียนเลยตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลและแชร์ประสบการณ์ หวังว่าจะช่วยให้ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทยของคุณง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

เอกสารแต่งงานกับคนเยอรมันที่ต้องจัดเตรียมสำหรับจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทย

เอกสารแต่งงานกับคนเยอรมันของคนไทย

  1. สูติบัตร หรือหนังสือรับรองการเกิดที่มีรายละเอียดครบถ้วน (หากสูติบัตรตัวจริงหายเหมือนผู้เขียน ให้ไปคัดกรองสูติบัตรต้นฉบับ จากฐานข้อมูลที่สำนักงานเขตตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านของคุณ)
  2. สำเนาทะเบียนบ้านในรูปแบบของแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ท.ร. 14/1) ออกโดยสำนักงานเขตตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  3. หนังสือรับรองสถานภาพสมรส ออกโดยสำนักงานเขตตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  4. คำร้องเกี่ยวกับทะเบียนครอบครัว ออกโดยสำนักทะเบียนกลาง

เอกสารแต่งงานกับคนเยอรมันของเยอรมัน

  1. สูติบัตร
  2. หนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชน
  3. ใบรับรองถิ่นพำนักในประเทศเยอรมัน หรือใบแจ้งย้ายถิ่นพำนักออกจากประเทศเยอรมนี
  4. หนังสือรับรองให้คู่สมรสทั้งสองทำการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย (Ehefähigkeitszeugnis)
  5. หนังสือรับรองเพื่อแสดงต่อนายทะเบียนของไทย (Konsularbescheinigung)

 

ขั้นตอนการเตรียมเอกสารสำหรับขอจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทย

1. ก่อนอื่น ให้แฟนคนเยอรมันนัดสำนักงานเขตของตนในเยอรมันออนไลน์ เพื่อเข้าไปสอบถามว่าหากต้องการจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทย ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากเงื่อนไขอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเขต โดยทางเขตจะให้เอกสารที่เป็นลิสต์รายการเอกสารมาด้วย (แต่จากประสบการณ์โดยตรง ไม่ได้มีเอกสารอะไรนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น)

2. จองคิว legalization กับสถานทูตเยอรมันออนไลน์ เพื่อขอรับรองว่าเอกสารที่ถูกต้อง/ไม่ปลอมแปลง

หมายเหตุ:

– แนะนำให้จองคิว legalisation ก่อนขอเอกสารสำหรับจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทย เนื่องจากการขอเอกสารที่สำนักงานเขตและสำนักทะเบียนกลางไม่ต้องจองคิวและเสร็จได้ภายในไม่กี่วัน แต่คิว  legalisation มีจำนวนจำกัดและเต็มเร็ว จากประสบการณ์ของผู้เขียนต้องรอคิวนานเป็นเดือนเลยหล่ะ

การจองคิวกับสถานทูตต้องปริ้นใบนัดไปด้วยทุกครั้ง และไม่สามารถนำมือถือเข้าไปได้ เขาจะให้ฝากไว้ด้านนอก หากมีข้อมูลสำคัญอะไร ให้ปริ้นหรือจดโน๊ตด้านนอกไว้ให้เรียบร้อย

3. ขอเอกสารแต่งงานกับคนเยอรมันของคนไทย ได้แก่ สูติบัตร, แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร และหนังสือรับรองสถานภาพสมรส โดยทั้งหมดนี้ขอได้ที่สำนักงานเขตตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน  สามารถขอเอกสารทั้งหมดนี้ได้ภายในวันเดียว แต่แนะนำให้ไปตอนเช้านะคะคนจะได้ไม่เยอะ

*สำหรับการขอหนังสือรับรองสถานภาพสมรส ต้องนำพยานไปด้วย 2 คน + บัตรประชาชนตัวจริงของตนเองและพยาน + สำเนาบัตรประชาชนของตนเองและพยาน + สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งผู้เขียนให้พ่อกับแม่ไปเป็นพยานให้ ซึ่งต้องแจ้งด้วยว่าแต่งงานกับสัญชาติใด และจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทยหรือเยอรมัน เพราะข้อมูลจะปรากฎอยู่ในหนังสือรับรองด้วย

4. ขอคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนครอบครัวที่สำนักทะเบียนกลาง (แผนที่สำนักทะเบียนกลาง)

5. นำเอกสารทั้งหมดไปยื่น legalization ที่สถานทูตเยอรมัน ตามที่นัดไว้ โดยเอกสารที่ต้องทำ legalization ได้แก่

  • สูติบัตร พร้อมสำเนา 2 ชุด
  • แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร พร้อมสำเนา 2 ชุด
  • หนังสือรับรองสถานภาพสมรส พร้อมสำเนา 2 ชุด

*เตรียมพาสปอร์ตตัวจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด เพื่อรับรอง (Beglaubigung) ด้วย หากลืมถ่ายสำเนาไป ด้านหน้ามีบริการให้อยู่

แนะนำให้ไปก่อนเวลานิดนึงนะคะ เพราะพอไปถึงก็ต้องไปกดคิวใหม่อีก ผู้เขียนให้ทางสถานทูตส่งเอกสารทางไปรษณีย์มาที่บ้าน เพราะขี้เกียจตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปที่สถานทูตโดยไม่จำเป็น ถ้าอยากให้ส่งมาที่บ้านให้แจ้งพนักงาน แล้วพนักงานจะให้ออกไปซื้อซองไปรษณีย์ที่ด้านนอก จ่ายเงิน เขียนชื่อที่อยู่ผู้รับให้เรียบร้อย แล้วนำกลับมายื่นที่เคาน์เตอร์

จากประสบการณ์ต้องรอเอกสารมาส่งประมาณ 1 เดือน ราคาทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 3,800 บาท ซึ่งต้องจ่ายเป็นเงินสดเท่านั้น และพนักงานแนะนำให้เตรียมแบงค์ย่อยมาด้วย (แผนที่สถานทูตเยอรมัน)

6. พอได้รับเอกสาร legalization ทางไปรษณีย์แล้ว ก็ต้องส่งเอกสารทั้งหมดไปให้แฟนที่เยอรมัน เพื่อให้สำนักงานเขตที่นู่นตรวจสอบค่ะ ผู้เขียนใช้บริการ DHL ใกล้บ้านแบบเร่งด่วน เพราะว่าราคาไม่ต่างกับการส่งแบบปกติเท่าไหร่ ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,700 บาท ใช้เวลาประมาณ 2-3 วันทำการก็ถึง

7. หลังจากที่แฟนคนเยอรมันได้รับเอกสาร ก็ต้องนำไปแปลจากไทยเป็นเยอรมัน โดยต้องเป็นนักแปลที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเท่านั้น สามารถดูรายชื่อล่ามคนไทยในเยอรมันที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมัน แล้วเลือกคนที่อยู่ใกล้กับเขตเรา + คุยเรื่องราคาแล้วโอเค เพราะต้องมีการส่งเอกสารตัวจริงไปยังนักแปลทางไปรษณีย์ด้วย ราคารวมอยู่ที่ประมาณ 220 ยูโร ในกรณีของผู้เขียนนักแปลให้ส่งเป็นรูปภาพไปล่วงหน้า เพื่อช่วยให้แปลได้เร็วขึ้น แล้วค่อยตรวจสอบกับลงตราประทับกับเอกสารตัวจริงอีกครั้ง ข้อสำคัญก็คือ ให้แฟนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารด้วยจะได้ไม่เสียเที่ยว โดยเฉพาะการสะกดชื่อต่าง ๆ เป็นต้น

8. นำเอกสารไปส่งที่สำนักงานเขตในเยอรมันของแฟนพร้อมอีเมลแจ้ง (กรณีของผู้เขียน เขาให้นำไปใส่ไว้ในเมล์บ็อกของสำนักงานเขต จากนั้นทางเขตจะนัดวันให้เข้าไปรับเอกสาร Ehefähigkeitszeugnis อีกครั้งผ่านอีเมล (ไม่ต้องรอจองคิวนานเหมือนรอบแรกอีก) พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 85 ยูโร *เอกสารมีอายุการใช้ไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก

9. แฟนคนเยอรมันทำเรื่องยื่นวีซ่าเป็นเวลา 2 เดือนที่สถานทูตไทยในเบอร์ลิน เพื่อเข้ามาจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย (เนื่องจาก 1 เดือนอาจไม่พอสำหรับขั้นตอนทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิดที่ทำให้ทุกอย่างต้องมีการจองคิว และรอนานมากขึ้น)

10. แฟนคนเยอรมันส่งอีเมลไปยังสถานทูตเยอรมันในไทย rk-13@bangk.auswaertiges-amt.de พร้อมแจ้งให้สถานทูตจัดเตรียมเอกสาร Konsularbescheinigung ล่วงหน้า ใช้เวลาประมาณ 5-7 วันทำการ ซึ่งข้อมูลประกอบด้วย

  • ไฟล์สำเนาพาสปอร์ตของทั้งคู่
  • แบบสอบถามที่มีรายการข้อมูลส่วนบุคคลของคู่สมรสสัญชาติเยอรมัน (โหลดได้จากเว็บไซต์ของสถานทูต)
  • แนบเอกสาร Ehefähigkeitszeugnis ไปยังสถานทูตเยอรมันในไทย

ทางสถานทูตจะแจ้งทางอีเมลเมื่อเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วให้จองคิวเพื่อเข้าไปรับเอกสารเมื่อมาถึงที่ไทย โดยแฟนคนเยอรมันต้องไปด้วยตัวเอง พร้อมนำเอกสารตัวจริงทั้งหมดเข้าไปด้วย ค่าธรรมเนียมประมาณ 81.94 ยูโรโดยคิดเป็นเงินไทย

11. จองคิวออนไลน์ เพื่อนำหนังสือรับรอง Konsularbescheinigung ที่ได้รับจากสถานทูตไปประทับตราที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (ที่อยู่กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ) ก่อนนำไปยื่นจดทะเบียนที่สำนักงานเขต โดยเอกสารที่ต้องเตรียมไปด้วย มีดังต่อไปนี้

  • พาสปอร์ตแฟนคนเยอรมันตัวจริง + สำเนาหน้ารูปและแสตมป์วันที่เข้ามาในไทย + สำเนาที่ประทับตราจากสถานทูต (แนบมากับ Konsularbescheinigung โดยสถานทูตแล้ว) + แปลไทย (จ้างแปลหรือแปลเองก็ได้ แต่ถ้าแปลเองให้เซ็นชื่อรับรองไว้ด้วย)
  • Konsularbescheinigung ตัวจริง + ฉบับแปลไทย (โดยสถานทูต)
  • บัตรประชาชน
  • ค่าธรรมเนียม 400 บาท
  • ชื่อสำนักงานเขตที่ต้องการจดทะเบียนสมรส

 

หมายเหตุ:

– ถ้าอยากได้เอกสารภายในวันเดียวกันเลยให้ไปแต่เช้า แต่ผู้เขียนไปช่วงบ่ายเลยต้องให้ส่งไปรษณีย์ตามไปแทน

– สำนักงานเขตห้วยขวางแนะนำให้ทำเรื่องจดทะเบียนที่สำนักงานเขตอื่นแทน เนื่องจากมีคนจดทะเบียนแบบผิดกฎหมายเยอะ ผู้เขียนเลยเลือกเป็นสำนักงานเขตบางรัก จะได้ชัวร์ ๆ ว่ารับและทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี แม้ว่าอาจจะต้องรอคิวนานหน่อย

 

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทยที่สำนักงานเขต

1. นำหนังสือรับรอง Konsularbescheinigung ที่ได้รับการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแล้ว ไปยื่นให้ตรวจสอบความพร้อมที่หน้าเคาน์เตอร์ของสำนักงานเขตบางรัก โดยประกอบไปด้วยเอกสารดังต่อไปนี้:

  • ชุดหนังสือรับรอง Konsularbescheinigung ที่ผ่านการรับรองจากกรมการกงศุลแล้ว พร้อมสำเนา 2 ชุด ซึ่งประกอบไปด้วย
    • Konsularbescheinigung ตัวจริง ประทับตราสถานทูต + กรมการกงศุล
    • Konsularbescheinigung แปลโดยตราสถานทูต + ประทับตรากรมการกงศุล
    • สำเนาพาสปอร์ต ประทับตราสถานทูตและกรมการกงศุล
  • ใบคำร้องและใบเสร็จที่ได้จากกรมการกงสุล

 

2. พอพนักงานตรวจสอบเอกสารของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาจะให้เขียนชื่อเพื่อจองวันสำหรับจดทะเบียนสมรสที่ต้องการ

3. สอบถามพนักงานว่าพอถึงวันที่ต้องจดทะเบียนสมรสจริง ๆ ต้องเตรียมเอกสารอะไรอีกบ้าง ของผู้เขียนต้องเตรียมตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • พยานเซ็นรับรู้ 2 คน เป็นญาติกับคนไทย (ผู้เขียนให้พ่อกับแม่เป็นพยานให้)
  • ล่ามที่เป็นบุคคลที่ 3 (ผู้เขียนให้เพื่อนสนิทช่วยเป็นล่ามให้)
  • เตรียมบัตรประชาชนตัวจริงของทุกคน ทั้งคนที่จดทะเบียนสมรส ล่าม พยาน รวมทั้งพาสปอร์ตของคนเยอรมันด้วย พร้อมสำเนาอย่างละ 2 ชุด (โดนกำชับมาว่าห้ามลืมตัวจริงเด็ดขาด ไม่งั้นไม่ให้แต่ง 😅)
  • แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรหรือท.ร. 14/1 พร้อมสำเนา 2 ชุด: เอกสารตัวที่เคยขอไปแล้วหมดอายุ (พนักงานบอกว่ามีอายุแค่ 1 เดือน) เลยต้องขอใหม่ พี่พนักงานบอกว่าสามารถกดคิวและขอที่สำนักงานเขตบางรักวันตรวจเอกสารได้เลย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลากลับไปที่เขตตัวเองอีก
  • เอกสารที่ให้ทางสำนักงานเขตตรวจสอบก่อนหน้า

พอจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางรักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับเอกสารเป็น 1.) ใบสำคัญการสมรส 2.) เอกสารทะเบียนสมรส 3.) หนังสือรับรองการใช้คำนำหน้านามหญิง (กรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากนางสาวเป็นนาง) จากนั้นก็ไปทำเรื่องเปลี่ยนคำนำหน้าและนามสกุลที่สำนักงานเขตตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน จะได้ใบเปลี่ยนนามสกุลมา จากนั้นก็ทำบัตรประชาชนใหม่ และทำพาสปอร์ตเล่มใหม่ด้วย

 

ขั้นตอนการขอวีซ่าติดตามคู่สมรสเยอรมันหลังจากจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทย

 

1. พาสปอร์ตแปลไทยให้สถานฑูตรับรอง ให้ล่ามคนไทยในไทยที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมันแปลเป็นภาษาเยอรมัน ผู้เขียนให้พี่หยกจาก Kann Ich Deutsch? ช่วยแปลให้ ราคา 700 บาท สามารถติดต่อได้ที่ thaideutsch.com

2. จองคิว legalization กับสถานทูตเยอรมัน สำหรับใบสำคัญการสมรสและเอกสารทะเบียนสมรส โดยต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  • ใบสำคัญการสมรส พร้อมสำเนา 2 ชุด
  • เอกสารทะเบียนสมรส พร้อมสำเนา 2 ชุด
  • พาสปอร์ตของทั้งคู่ พร้อมสำเนา 2 ชุด
  • Konsularbescheinigung

เมื่อยื่นเอกสารทั้งหมดนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ใบสำคัญการสมรสและใบสำคัญการสมรสที่ผ่านการ legalization แล้วภายในวันเดียวกันเลย ราคาประมาณ 2,200 บาท

3. ส่งเอกสารใบสำคัญการสมรสและเอกสารทะเบียนสมรสจำนวน 1 ชุดให้ล่ามแปล สำหรับยื่นวีซ่าติดตามครอบครัวในขั้นตอนต่อไป ราคา 2,500 บาท

4. จองคิวยื่นวีซ่าติดตามคู่สมรสเยอรมันออนไลน์กับสถานทูตเยอรมัน โดยต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

 

หมายเหตุ: ใครที่ต้องการยื่นวีซ่าติดตามคู่สมรสเยอรมัน เพื่อไปอาศัยอยู่ในเยอรมันระยะยาวในอนาคต จำเป็นต้องสอบภาษาเยอรมันขั้น A1 ให้ผ่านก่อน

ตอนแรกที่รู้ก็เครียดมาก! เพราะต้องสอบทั้งทักษะฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาเยอรมัน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาดหนัก ประกอบกับที่ผู้เขียนไม่อยากเสียเงินค่าเรียนหลายหมื่น ก็เลยตัดสินใจเรียนภาษาเยอรมันด้วยตัวเอง ทั้งผ่านแอป เรียนคอร์ส E-learning ของ Goethe Institut ตอนลดราคาเหลือแค่ 99 ยูโร และเตรียมสอบผ่านคลิปในยูทูปและฝึกกับแฟนจนผ่านมาได้ ซึ่งผู้เขียนสอบเสร็จก่อนทำเรื่องจดทะเบียน เพราะในแน่ใจว่าตัวเองต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะสอบผ่าน

สำหรับใครที่สนใจวิธีการเตรียมสอบเยอรมัน A1 ราคาประหยัดแบบนี้ ลองอ่านบล็อก [รีวิว] อ่านสอบ A1 เยอรมันด้วยตัวเองยังไงให้ผ่าน 91/100 ของผู้เขียนได้เลยนะคะ

ช่วงที่ผู้เขียนยื่นสมัครวีซ่า ทางสถานทูตมอบหมายให้ศูนย์รับคำร้อง VFS เป็นผู้ดูแลแทน (แผนที่ศูนย์คำร้อง VFS) โดยไปตามวันนัดที่นัดไว้กับสถานทูต และใช้เอกสารเดิมที่เตรียมไว้ได้เลย ค่าธรรมเนียมดำเนินการประมาณ 1,500 บาท แนะนำให้ถ่ายเอกสารทุกอย่างเผื่อไว้เลยนะคะ เพราะค่าถ่ายเอกสารที่นี่แพงมาก พอดีปริ้นพวก bank statement เผื่อไว้ให้พิจารณาหลายหน้า เลยโดนไป 600 บาท เพราะไม่ได้ถ่ายเอกสารไปเผื่อ แต่พนักงานที่นี่เป็นมิตรมาก ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี รอประมาณ 1 เดือนก็ได้รับวีซ่าส่งมาถึงที่บ้านแล้วค่ะ

เห็นขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสกับคนเยอรมันในไทยตั้งแต่ต้นจนจบในบล็อกนี้แล้ว เยอะมากเลยใช่ไหมหล่ะคะ หลายคนพอเห็นแบบนี้แล้ว น่าจะท้อตั้งแต่เริ่มไม่ต่างจากผู้เขียนตอนแรก ๆ เลย กว่าจะผ่านกันมาได้ ก็แข่งบ่นกับแฟนไปไม่รู้กี่รอบ อย่างกรณีของผู้เขียนใช้เวลาทั้งหมด 9 เดือนได้เลยค่ะ (ยังไม่รวมช่วงเรียนภาษาและเตรียมสอบ A1) รวม ๆ แล้วก็เกือบปีเลยทีเดียว ถ้ามีอะไรสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้เลยนะคะ ถ้าผู้เขียนพอจะช่วยได้ จะรีบเขียนตอบเลยค่ะ

ที่ใช้เวลานานมากก็เพราะเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนักด้วย ทำอะไรก็เลยต้องจองคิวไปหมด แต่ก็ได้อยู่ที่ไทยกับครอบครัว เพื่อน และกินอาหารไทยอร่อย ๆ ตุนไว้จนหนำใจเลยทีเดียว ก่อนจะต้องมาอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมันแบบยาว ๆ และต้องนับหนึ่งใหม่ในอีกหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเมืองที่อยู่ สภาพอากาศ อาหารการกิน ผู้คน และภาษา

ถ้าผ่านทั้งหมดนี้ไปได้ พวกเราคือพ่อบ้านและแม่บ้านเยอรมันผู้แข็งแกร่งอย่างแท้จริง!

เป็นกำลังใจให้กันนะคะ 🙂

ผู้เขียน: ตรีสุคนธ์ ทาไลคิส

ฟรีแลนซ์นักแปลและนักเขียนคอนเทนต์ไทย <=> อังกฤษ

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.