9 วันในศรีลังกา ตอนที่ 5: นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ – บาดุลลา

9 วันในศรีลังกา ตอนที่ 5: นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ – บาดุลลา

แคนดี้ (Kandy) เมืองหลวงเก่าของศรีลังกา

 

แคนดี้ (Kandy)

 สังเกตได้ว่ามีธงศาสนาพุทธประดับอยู่สองข้างทางบนถนนในแคนดี้

ฉันนั่งหลับแทบจะตลอดทางบนรถเมล์ตั้งแต่ออกจากดัมบุลลา (Dambulla) มาจนถึงแคนดี้ (Kandy) เมืองหลวงเก่าของประเทศศรีลังกา แคนดี้ต้อนรับการมาถึงของพวกเราด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมาอย่างไม่ขาดสาย เราใส่เสื้อกันฝนที่พกมา เดินลุยตามแผนที่ไปยังที่พักที่จองไว้ล่วงหน้าใกล้กับสถานีรถไฟแคนดี้ (Kandy Railway Station)

แคนดี้ (Kandy)

แคนดี้ในวันที่ฝนตก

แพลนของเราในวันพรุ่งนี้คือนั่งรถไฟจากแคนดี้ไปบาดุลลา (Badulla) สถานีปลายทางของรถไฟสายแคนดี้เอลล่า (Kandy to Ella train) เส้นทางรถไฟอันขึ้นชื่อลือชาของศรีลังกาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือนที่นี่

 

วัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic) เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา

 

วัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic) แคนดี้ (Kandy) ศรีลังกา (Srilanka)

ทางเข้าวัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic)

หลังจากเช็คอินที่พักเสร็จเรียบร้อย พวกเราก็เดินจากที่พักไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองแคนดี้ทันทีนั่นก็คือวัดพระเขี้ยวแก้วของศรีลังกา (Temple of Tooth Relic) อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในศรีลังกาที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกโลก วัดแห่งนี้เป็นที่เก็บพระเขี้ยวซ้ายของพระพุทธเจ้าที่เจ้าชายของศรีลังกาในอดีตเป็นผู้อัญเชิญมาจากอินเดีย พื้นที่ของวัดพระเขี้ยวแก้วแห่งนี้ก็เคยเป็นพระราชวังเก่ามาก่อน

วัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic) แคนดี้ (Kandy) ศรีลังกา (Srilanka)

ศิลปะบนฝาผนังของวัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic)

พวกเราต้องถอดรองเท้ากันตั้งแต่เดินเข้าประตูวัด ตามธรรมเนียมของวัดพุทธในศรีลังกา พอเข้ามาก็เจอไกด์อิสระหลายคนกำลังยืนรอหาลูกค้าอยู่ เราอยากลองเที่ยวแบบมีไกด์คอยให้ความรู้บ้างเลยลองถามราคาดู ไกด์บอกว่า 500 บาท พอเราทำท่าทีเหมือนกับว่าแพงไป เขาก็บอกว่าจะให้เท่าไหร่ก็ได้ตามความพอใจ เราเลยต่อจากราคาประมาณ 500 บาทเหลือ 300 บาท แต่เราว่าไม่ต้องจ้างก็ได้นะ ภาษาอังกฤษฟังยากอยู่ แล้วเขาก็ไม่ได้อธิบายอะไรเยอะมาก พูดซ้ำเรื่องเดิมๆ แถมยังคุยโทรศัพท์บ่อยอีกต่างหาก

ของที่ใช้ในเทศกาลแห่พระเขี้ยวแก้ว (Kandy Esala Perahera) เทศกาลประจำปีของชาวเมืองแคนดี้

แต่อย่างน้อยก็มีคนพาไปซื้อตั๋ว เดิมชมวัด แล้วเราก็ได้ลองคุยกับคนท้องถิ่นด้วย ไกด์คนนี้อารมณ์ดี ชวนให้หัวเราะอยู่ตลอด พอฉันบอกว่ามาจากประเทศไทย เขาดูตื่นเต้นแล้วบอกว่างานไกด์เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักของเขาคือเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬา เลยต้องบินไปซื้อจากกรุงเทพอยู่บ่อยๆ ส่วนภรรยาของเขาเป็นครู แล้วก็บ่นให้ฟังนิดหนึ่งด้วยว่าชีวิตของครูที่ศรีลังกาลำบาก

วัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic) แคนดี้ (Kandy) ศรีลังกา (Srilanka)

พิธีตีกลองพร้อมเป่าสังข์ที่ชั้น 1 ของวัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic)

ตรงทางเข้ามีกองดอกบัวสวยๆ ขายกองเบ้อเริ่มในราคา 20-40 บาทให้คนซื้อเข้าไปสักการะพระเขี้ยวแก้วด้านในได้ บรรยากาศภายในวัดประดับไปด้วยรูปตกแต่งและของที่ใช้ในเทศกาลแห่พระเขี้ยวแก้ว (Kandy Esala Perahera) เทศกาลประจำปีของชาวเมืองแคนดี้ที่ถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนกรฎาคมหรือสิงหาคม งานถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยขบวนแห่ที่ประกอบไปด้วยช้างกว่า 90 เชือก!

เจดีย์บรรจุพระเขี้ยวที่ชั้น 2 ของวัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic)

วัดที่นี่ไม่มีการจุดธูปเทียนบูชา มีแต่นำดอกไม้สวยๆ มาวางสักการะไว้เท่านั้น

ตัววัดมีทั้งหมด 2 ชั้นด้วยกัน ตอนเย็นเวลาประมาณ 6 โมงครึ่งของทุกวันจะมีพิธีตีกลองพร้อมเป่าสังข์ที่ชั้น 1 และพระจะออกมาเปิดม่านให้คนได้ยลโฉมเจดีย์สีทองขนาดกลางที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วไว้ที่ชั้น 2 ผู้คนมากมายพากันต่อแถวยาวเหยียดเพื่อวางเงินไว้ในพานหรือวางดอกไม้สักการบูชา ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่งก็รู้สึกอิ่มใจไม่น้อยที่ได้มาที่นี่ ทางวัดเปิดม่านให้เข้าไปสักการะใกล้ๆ แบบนี้แค่บางช่วงเวลาเท่านั้น เท่าที่หาข้อมูลเจอคือจะเป็นช่วงเช้าตอนตี 5 ครึ่งและช่วงเย็นตอน 6 โมงครึ่ง

วัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic) แคนดี้ (Kandy) ศรีลังกา (Srilanka)

ห้องเก็บพระพุทธรูปในวัดพระเขี้ยวแก้ว (Temple of Tooth Relic)

เดินออกมาตรงทางออกอีกทางจะเจอกับห้องที่เก็บพระไตรปิฎก พอลงมาที่ชั้นล่างจะเป็นห้องเก็บพระพุทธรูปที่ได้รับมาจากหลายๆ ประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น พม่า รวมถึงไทยด้วย ใกล้กันมีอาคารไม้หลังหนึ่งตั้งอยู่ ไกด์บอกว่าที่นี่คือสถานที่ที่กษัตริย์ศรีลังกาลงนามเซ็นสัญญากับชาวต่างชาติซึ่งถูกมองว่าคล้ายกับการขายชาติจนทำให้ศรีลังกาต้องตกเป็นเมืองขึ้น

วิวจากห้องเก็บพระไตรปิฎก

ไกด์ทิ้งท้ายให้เราฟังว่าเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วศรีลังกายังวุ่นวายกับปัญหาทางการเมือง เคยมีคนมาระเบิดตัวเองที่หน้าวัดแห่งนี้จนเป็นข่าวใหญ่โต แต่ในปัจจุบันปัญหาเหล่านั้นได้จบลงแล้ว ชาวศรีลังกาได้กลับมาใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุขอีกครั้ง

ทะเลสาบในแคนดี้ยามค่ำคืน

คำว่า Sri Lanka แปลว่า เกาะที่สวยงาม นาทีนั้นฉันสัมผัสได้ถึงความสงบสุขและสวยงามของศรีลังกาจริงๆ อย่าได้มีเหตุการณ์ร้ายๆ แบบนั้นเกิดขึ้นอีกเลย พวกเราบอกลาไกด์ แสงไฟยามค่ำคืนบอกกับเราว่าได้เวลาเดินกลับที่พักแล้ว ระหว่างทางฉันมองไปที่ฝั่งตรงข้าม เห็นบ้านเล็กบ้านน้อยมากมายที่ถูกสร้างไว้บนภูเขา สะท้อนแสงและเงาบนผืนน้ำของทะเลสาบกลางเมืองภูเขาที่ชื่อว่า.. Kandy

 

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้บาดุลลา

 

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ - บาดุลลา

เจ้าของที่พักบอกกับเราว่าตั๋วรถไฟสายแคนดี้ – บาดุลลาน่าจะเต็มหมดแล้วนะ เพราะส่วนใหญ่คนมักจะจองไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน แต่ถ้าโชคดีก็อาจจะมีที่นั่งหลุดจองเหลือ เขาแนะนำให้ลองนั่งรถไฟย้อนกลับไป 1 สถานี เพราะคนที่ขึ้นสถานีนั้นน่าจะน้อยกว่ามาก

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ - บาดุลลา

จากที่ฉันเคยดูรายการหนังพาไป ตอนศรีลังกา พี่บอลกับพี่ยอดก็ขึ้นรถไฟจากเมืองเอลล่า (Ella) มาที่เมืองแคนดี้ (Kandy) แบบไม่ได้จองไว้ล่วงหน้า แต่พวกเขารีบตื่นแต่เช้าเพื่อไปซื้อตั๋ว คนบนรถไฟเยอะมากจนไม่มีที่นั่งตลอดการเดินทางที่ยาวนานหลายชั่วโมง

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ - บาดุลลา

อาจจะเป็นเพราะช่วงนั้นเป็น high season ด้วย เพราะพวกเขามาถ่ายทำงานเทศกาลแห่พระเขี้ยวแก้วที่ฉันพูดถึงไปก่อนหน้านี้ซึ่งมีในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมของทุกปี แต่ช่วงที่ฉันเดินทางไปศรีลังกาเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม

ฉันอดกังวลไม่ได้เพราะมีเวลาจำกัด มาถึงแคนดี้ขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่ได้ตั๋วจริงๆ คงเสียดายแย่ เลยต้องลองเสี่ยงดวงดูในวันพรุ่งนี้!

วันรุ่งขึ้นเป็นวันเกิดของฉัน แฟนเซอร์ไพรส์ด้วยการกลับมาพร้อมกับเค้ก 1 ชิ้นแล้วก็เทียน 1 เล่ม ฉันน้ำตาคลอเพราะดีใจแล้วก็อดขำด้วยไม่ได้เพราะนั่นมันเทียนไขสำหรับไหว้พระชัดๆ แต่ของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับฉันก็คือเราได้ตั๋วรถไฟแคนดี้ – บาดุลลาสำหรับสองที่นั่งมาด้วย!

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ - บาดุลลา

เขารีบตื่นแต่เช้าไปเช็คเรื่องตั๋วที่สถานีรถไฟแคนดี้ (Kandy Railway Station) ปรากฏว่าไร้ซึ่งปัญหาใดๆ ชาวต่างชาติสามารถจองตั๋วแบบ 2nd class ที่มาพร้อมกับเลขที่นั่งได้เลย มีที่นั่งแน่นอน แต่ทางที่ดี จองไว้ล่วงหน้าให้ได้ตั๋วแน่ๆ เลยก็น่าจะดีกว่า

ก่อนที่จะไปขึ้นรถไฟกัน แฟนพาแวะกินอะไรรองทองกันก่อนที่ร้านขายของชำเล็กๆ ระหว่างทาง เจ้าของจำได้เพราะเป็นร้านที่แฟนแวะซื้อเค้กแล้วก็ขอเทียนไปด้วยเมื่อเช้านี้ ฉันเลยได้คำอวยพร Happy Birthday จากชาวศรีลังกาเป็นของแถม

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ - บาดุลลา

ราคาตั๋วรถไฟจากแคนดี้ไปบาดุลลาตกคนละ 200 กว่าบาท แพงกว่าสายอื่นๆ ที่เคยนั่งมาเล็กน้อย เพราะเป็นสายรถไฟที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่จะเดินทางจากเอลล่า (Ella) ไปแคนดี้ (Kandy) หรือ (Kandy) ไป เอลล่า (Ella) ซึ่งเป็นจุดแวะพักที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ แฟนเลยอยากลองแหวกแนว นั่งรถไฟจนสุดสายไปที่เมืองบาดุลลา (Badulla) แทน

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ - บาดุลลา

ปกติฉันเป็นคนที่หลับเก่งมาก แต่วิวตลอดเส้นทางของรถไฟสายนี้ทำให้ฉันไม่รู้สึกเบื่อเลยสักนิด..

รถไฟวิ่งผ่านผ่านหมู่บ้านแล้วหมู่บ้านเล่า ลัดเลาะไปตามภูเขาไม่รู้กี่ลูก ผ่านไร่ชาเขียวขจีอีกไม่รู้กี่พันไร่ ชาวบ้านเรียงแถวกันเก็บใบชา บ้างก็กำลังปลูกพืชผักอย่างแข็งขัน คั่นด้วยต้นไม้ในป่าธรรมชาติและน้ำตกขนาดมหึมาที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีเลยว่าธรรมชาติของศรีลังกายังสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ฝนตกปรอยๆ ตลอดทางให้เราได้สูดอากาศสดชื่นจนเต็มปอดตลอด 7 ชั่วโมง

ในยุคที่ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทางรถไฟสายนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับใช้ขนส่งชาเพื่อส่งออกในอดีต รวมทั้งแรงงานและเสบียงสำหรับพวกเขาด้วย แต่ปัจจุบันรถไฟสายนี้กลับกลายเป็นทางรถไฟที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในทางรถไฟที่สวยที่สุดของโลก!

ในอดีตผู้คนที่นี่คงต้องตรากตรำทำงานในไร่ชาเพื่อชนชาติอื่น กาลเวลาผ่านไป.. ผู้คนที่นี่ยังคงทำงานเก็บชากันอย่างแข็งขันเพื่อเป็นอาชีพดูแลตน

นั่งรถไฟผ่านไร่ชา แคนดี้ - บาดุลลา

รถไฟมาถึงสถานีเอลล่า นักท่องเที่ยวที่นั่งรถไฟมาเต็มขบวนพากันลงที่สถานีนี้กันหมด เหลือแค่เราที่เป็นชาวต่างชาติ 2 คน คนในพื้นที่ แล้วก็พนักงานบนรถไฟที่นับรวมกันแล้วไม่ถึง 10 คน ทีนี้พวกเราเดินเล่นบนรถไฟกันไปมา ราวกับว่ารถไฟทั้งขบวนเป็นของเรา..

 

Reference:

 

อ่าน 9 วันในศรีลังกาตอนก่อนหน้าได้ที่นี่: ตอนที่ 4: แวะพักระหว่างทางที่ดัมบุลลา

อ่าน 9 วันในศรีลังกาตอนต่อไปได้ที่นี่: ตอนที่ 6: เงียบสงบที่บาดุลลา 

2 Comments